เดินขบวนประท้วงรอบใหม่ในฝรั่งเศส ค้านปฏิรูปบำนาญ

สหภาพแรงงานฝรั่งเศสเริ่มเดินขบวนประท้วงรอบใหม่ต่อต้านการปฏิรูประบบบำนาญ ส่งผลให้การจัดส่งเชื้อเพลิงและการขนส่งสาธารณะหยุดชะงักอย่างรุนแรง

ประชาชนเข้าร่วมการเดินขบวนต่อต้านการปฏิรูประบบบำนาญในเมืองน็องต์ ทางตะวันตกของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 มีนาคม (Photo by Sebastien SALOM-GOMIS / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 7 มีนาคม 2566 กล่าวว่า สหภาพแรงงานฝรั่งเศสนัดรวมตัวเดินขบวนประท้วงรัฐบาลรอบใหม่ เพื่อคัดค้านการปฏิรูประบบบำนาญตามนโยบายของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง

สหภาพแรงงานฯขู่ว่าจะทำให้ประเทศหยุดชะงักด้วยการหยุดงานประท้วงเพื่อให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว ที่มีสาระสำคัญเรื่องการยืดอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี และเพิ่มจำนวนปีที่ประชาชนต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อรับเงินบำนาญเต็มจำนวน

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง กำหนดให้แผนปฏิรูปบำนาญเป็นนโยบายหลักในแคมเปญรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว และคณะรัฐมนตรีของเขากล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบเงินบำนาญขาดดุลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

แต่รัฐบาลต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากทั้งรัฐสภาและประชาชน โดยเกือบ 2 ใน 3 ของประชาชนทั่วประเทศสนับสนุนการประท้วงต่อต้านแผนปฏิรูปดังกล่าว ตามข้อมูลที่ได้จากกลุ่มสำรวจเอลาเบที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์

สหภาพแรงงานฯระบุว่า การส่งเชื้อเพลิงจากโรงกลั่นทั่วฝรั่งเศสถูกปิดกั้นตั้งแต่เช้าวันอังคาร และอาจส่งผลให้สถานีบริการน้ำมันขาดแคลนเชื้อเพลิงหากการประท้วงยังคงยืดเยื้อต่อไป

นอกจากนี้ สหภาพแรงงานฯยังเตือนอีกว่า การนัดหยุดงานในระบบขนส่งสาธารณะอาจทำให้หลายพื้นที่ของประเทศเป็นอัมพาตนานหลายสัปดาห์

หน่วยงานตำรวจระบุว่าจะมีผู้คนราว 1.1 - 1.4 ล้านคนออกไปเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนกว่า 260 แห่งทั่วประเทศในวันอังคาร ขณะที่สหภาพฯแรงงานแจ้งว่าจะมีผู้คนมากถึง 2 ล้านคนออกมาร่วมเดินขบวนประท้วงทั่วฝรั่งเศส

ทั้งนี้ รัฐบาลเคยออกมาชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันไม่ให้ระบบเงินบำนาญของฝรั่งเศสตกอยู่ในภาวะขาดดุลอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

แต่สหภาพแรงงานโต้แย้งว่ามาตรการที่เสนอนั้นไม่ยุติธรรม และจะส่งผลกระทบต่อแรงงานทักษะต่ำ รวมถึงแรงงานหญิงด้วย

ร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญกำลังถูกอภิปรายในวุฒิสภา หลังจากถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในสภาผู้แทนฯมา 2 สัปดาห์ และจบลงโดยไม่ได้มีการลงมติอนุมัติหลักการเปลี่ยนแปลงแม้แต่ข้อเดียว

รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันแผนปฏิรูปผ่านความเห็นชอบจากรัฐสถา แม้จะเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้เกิดการประท้วงภาคประชาชนมากขึ้นก็ตาม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มาครง และเนทันยาฮู ปะทะกันหลังเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพถูกโจมตีในเลบานอน

กองทัพอิสราเอลโจมตีฐานที่ตั้งของกองกำลัง ‘หมวกสีฟ้า’ ในเลบานอนหลายครั้ง ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่ง

ซีรีส์ดัง 'Emily in Paris' ได้นักแสดงรับเชิญระดับภริยาประธานาธิบดี

บริจิตต์ มาครง ภริยาของประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส ผละออกจากคอมฟอร์ตโซนชั่วคราว เพื่อเข้าสู่ดินแดนที่เธอไม่คุ้นเคย นั่นคือแวดวงบันเทิง โดยเธ

พันธมิตรฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศสเสนอ ‘ลูซี กาสเต็ทส์’ ลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ผู้ชนะการเลือกตั้งรัฐสภาช่วงต้นในฝรั่งเศสตัดสินใจเลือก ลูซี กาสเต็ทส์ เป็นหัวหน้ารัฐบาลในอนาคต แต่ประธา