ยอดเสียชีวิตแผ่นดินไหวทะลุ 35,000 ราย เริ่มยุติการค้นหาและพุ่งเป้าไปยังการฟื้นฟูช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

หน่วยกู้ภัยเริ่มยุติการค้นหาผู้รอดชีวิต และเปลี่ยนไปโฟกัสการจัดการภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมที่เกิดจากแผ่นดินไหวซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 35,000 รายในตุรเคียและซีเรีย

ทีมกู้ภัยจากสวิตเซอร์แลนด์และสุนัขของพวกเขากำลังปฏิบัติภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากอาคารที่พังทลายหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในจังหวัดฮาเตย์ ประเทศตุรเคีย (Photo by Michael FICHTER / FDFA / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 กล่าวว่า ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยในตุรเคียเริ่มยุติปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากใต้ซากปรักหักพังทั่วทุกพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวแล้ว เพราะไม่น่าจะมีผู้รอดชีวิตหลงเหลืออีก หลังเข้าสู่วันที่ 8 ของหายนะ

อย่างไรก็ดี เมื่อวันจันทร์ หน่วยกู้ภัยเพิ่งช่วยเหลือพี่น้องสองคนวัย 8 ปี และ15 ปี ออกมาได้จากใต้ซากปรักหักพังหลังรอดชีวิตได้นานกว่า 181 ชั่วโมง

ยอดรวมผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันล่าสุดอยู่ที่ 35,224 ราย แบ่งเป็น 31,643 รายในตุรเคีย และ 3,581 รายในซีเรีย

ต่อจากนี้ปฏิบัติการฟื้นฟูและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นหลักในการดำเนินการ ทั้งความช่วยเหลือจากรัฐบาลตุรเคียและองค์กรนานาชาติ เช่น สหประชาชาติ, องค์การอนามัยโลก, กาชาดสากล และธนาคารโลก เป็นต้น

ด้านความปลอดภัย ตำรวจและทหารตุรเคียเริ่มประจำการและออกลาดตระเวนตามพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อป้องกันการปล้นสะดม หลังจากเกิดเหตุดังกล่าวหลายครั้งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ รัฐบาลตุรเคียเปิดเผยว่า มีอาคารกว่า 108,000 หลังได้รับความเสียหายทั่วเขตแผ่นดินไหวของตุรเคีย และมีผู้ประสบเหตุราว 1.2 ล้านคนกำลังอาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราวเพราะสูญเสียบ้านที่อยู่อาศัยอย่างถาวร ขณะที่ผู้ประสบเหตุอีกกว่า 400,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเช่นคนพลัดถิ่นและต้องหาภูมิลำเนาใหม่

สมาคมธุรกิจการค้าของตุรเคียระบุในรายงานเมื่อวันจันทร์ว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจสูงถึง 84,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.88 ล้านล้านบาท)

ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเปิดประชุมฉุกเฉินเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยพิบัติในซีเรียในวันจันทร์ ภายหลังความช่วยเหลือจากนานาชาติและการกู้ภัยต้องหยุดชะงักเพราะเหตุผลทางการเมืองและความไม่สงบจากการปะทะสู้รบในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเหตุแผ่นดินไหว

ผู้ประสบเหตุหลายล้านคนกำลังรอความช่วยเหลือที่ไม่เคยได้รับเลยตั้งแต่เกิดเหตุเมื่อ 8 วันก่อน เพราะพื้นที่ถูกปิดกั้นและถูกครอบครองโดยกลุ่มกบฏซีเรีย จึงเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมเร่งด่วนที่นานาชาติต้องหาทางออกให้เร็วที่สุด

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ได้พบกับประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดเมื่อวันอาทิตย์ พร้อมขอร้องแกมกดดันให้ผู้นำซีเรียยอมเปิดด่านพรมแดนเพิ่มเติมเพื่อให้ความช่วยเหลือหลั่งไหลเข้าไปได้มากขึ้น ซึ่งล่าสุดผู้นำซีเรียยอมเปิดด่านพรมแดนเพิ่มอีก 2 แห่ง เพื่อให้ขบวนความช่วยเหลือจากนานาชาติเข้าถึงพื้นที่กลุ่มกบฏทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศได้

ก่อนหน้านี้ขบวนรถบรรทุกเสบียงและสิ่งของจำเป็นของสหประชาชาติต้องเข้าแถวรอคอยการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ภัยพิบัติที่บริเวณจุดผ่านแดน บับ อัล-ฮาวา ซึ่งเป็นเพียงจุดเดียวที่ความช่วยเหลือจากนานาชาติจะเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ยึดครองของฝ่ายกบฏในซีเรียได้ และเพิ่งมีขบวนรถบรรทุกผ่านด่านเข้าไปได้แค่เพียง 10 คันเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือคนหลักล้าน

ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย ซึ่งถูกโดดเดี่ยวและอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นานาชาติช่วยเหลือในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในประเทศ เพื่อรองรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 5 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บัวแก้ว' เผยแผ่นดินไหววานูอาตู คนไทยเสียชีวิต 1 เจ็บ 3 เร่งช่วยเหลือชุมชนไทยใกล้ชิด

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวในวานูอาตูเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 17 ธ.ค. 2567  ตามเวลาท้องถิ่น ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวระดับ 7.3 ห่างจากกรุงพอร์ตวิลา ประมาณ 30 กม. แ