หญิงชาวอินโดนีเซียรายหนึ่งที่ถูกอดีตนายจ้างชาวฮ่องกงทุบตีและใช้ไฟลน ได้รับค่าเสียหายกว่า 3.7 ล้านบาท หลังศาลตัดสินให้ชนะคดี
คาติกา ปูปิตาซารี กับรูปถ่ายของตัวเองที่มีแผลเป็นที่แขนจากการทารุณกรรมของนายจ้างชาวฮ่องกงเมื่อ 10 ปีก่อน จนกระทั่งวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ศาลฮ่องกงตัดสินให้เธอได้รับค่าชดเชยจากคดีดังกล่าวเป็นเงินประมาณ 3.7 ล้านบาท (Photo by M SULTHAN AZZAM / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 กล่าวว่า การทารุณกรรมสาวรับใช้ชาวอินโดนีเซียชื่อคาติกา ปูปิตาซารี วัย 40 ปี เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วและเป็นข่าวพาดหัวในฮ่องกงตอนนั้น จุดประกายให้เกิดการเรียกร้องสวัสดิภาพที่ดีขึ้นของแรงงานหญิงต่างด้าวที่เข้ามาในฮ่องกงเพื่อรับจ้างทำอาหาร, ทำความสะอาด, ดูแลเด็กและคนชรา
นายจ้างของปูปิตาซารี ซึ่งเป็นชายหญิงชาวฮ่องกงคู่หนึ่ง ถูกตัดสินว่ามีความผิดและติดคุกในปี 2556 โดยศาลพิจารณาว่าพวกเขาทำร้ายเธอด้วยเหล็กร้อนๆและเครื่องตัดกระดาษ, ทุบตีเธอด้วยโซ่จักรยาน ทำให้เธอมีแผลเป็นและบอบช้ำทางร่างกาย
ในตอนแรกที่ยังไม่แน่ใจว่าจะหันไปพึ่งใครดี ปูปิตาซารีจึงต้องอดทนต่อทารุณกรรมของนายจ้างเป็นเวลากว่า 2 ปี ก่อนที่เธอจะหนีไปขอความช่วยเหลือจากสถานกงสุลอินโดนีเซียในฮ่องกง จากนั้นเรื่องราวของเธอจึงปรากฏต่อสาธารณชน
ท้ายที่สุด ปูปิตาซารีก็เดินทางกลับอินโดนีเซียในปี 2557 โดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือเงินชดเชยใดๆ
จนกระทั่งในวันศุกร์ ผู้พิพากษาศาลฮ่องกงตัดสินว่า ปูปิตาซารี ถูก 'ปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม' และสั่งจ่ายเงินชดเชยให้เธอจำนวน 868,607 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 3.7 ล้านบาท)
ปูปิตาซารีซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ร่วมกับสามีและลูก 3 คนในเมืองปาดังบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่หลังทราบผลการตัดสินของศาลฮ่องกง
"ฉันรอด้วยความหวังมาตลอด 10 ปี และในที่สุดคำอธิษฐานของฉันก็เป็นจริง" เธอกล่าวขอบคุณทนายความและทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม ปูปิตาซารีซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) เสริมว่า เงินชดเชยจำนวนนี้ เทียบไม่ได้กับบาดแผลทางร่างกายและจิตใจที่ได้รับ ถึงแม้ในฮ่องกงตัวเลขดังกล่าวเป็นจำนวนเงินค่าชดเชยที่มากที่สุดที่แรงงานสาวรับใช้ได้รับจากกรณีทารุณกรรมของนายจ้าง
แรงงานต่างด้าวทำงานตามบ้านเรือน (คนรับใช้) ที่มีประมาณ 340,000 คนในฮ่องกงและส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มักได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของเมืองและต้องอาศัยอยู่กับนายจ้าง ซึ่งทำให้บางคนไม่สามารถหลบหนีจากสถานที่ทำงานได้หากมีเหตุร้าย
กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า สาวรับใช้ต่างด้าวในฮ่องกงมักตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการค้ามนุษย์, การถูกใช้งานหนักเกินไป และการถูกทำร้ายร่างกาย
แม้จะรับรู้กิตติศัพท์ด้านไม่ดีของแรงงานประเภทนี้ แต่ผู้หญิงต่างชาติจำนวนมากยังคงแห่แหนมาทำงานบ้านในฮ่องกง เพราะความจำเป็นทางครอบครัวและต้องการหลบหนีจากความยากจนในประเทศบ้านเกิดของตน
ทั้งนี้ นายจ้างชายหญิงของปูปิตาซารีซึ่งเป็นคู่สามีภรรยากัน ถูกพิพากษาทางคดีอาญา ได้รับโทษจำคุก 3 ปีครึ่งและ 5 ปีครึ่งตามลำดับ แต่ไม่ได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งแต่อย่างใดในขณะนั้น.