สหประชาชาติกังวล การเลือกตั้งของรัฐบาลทหารเมียนมาอาจเติมเชื้อไฟขัดแย้ง

สหประชาชาติให้ความเห็นต่อการเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารเมียนมาวางแผนให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ ว่าอาจเติมเชื้อไฟความขัดแย้งให้ลุกโหมแรงยิ่งขึ้น

แฟ้มภาพ โนเอลีน เฮย์เซอร์ ทูตพิเศษแห่งสหประชาชาติประจำเมียนมา (Photo by AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 31 มกราคม 2566 กล่าวว่า ทูตพิเศษของสหประชาชาติแสดงความกังวลต่อกระแสข่าวการจัดการเลือกตั้งโดยรัฐบาลทหารเมียนมาภายในปีนี้ พร้อมชี้ว่าทางออกที่ดีที่สุดคือร่วมกันต่อต้านการปกครองของรัฐบาลทหารชุดนี้

โนเอลีน เฮย์เซอร์ ทูตพิเศษแห่งสหประชาชาติประจำเมียนมา แสดงความกังวลที่มีต่อกระแสข่าวการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นในเมียนมาภายในปีนี้ พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมกันต่อต้าน เพราะเธอเชื่อว่าทุกการกระทำที่รัฐบาลทหารพยายามแสดงออกว่าทำเพื่อประเทศชาตินั้น แท้ที่จริงแล้วอาจเป็นกับดักและอาจเติมเชื้อไฟแห่งความขัดแย้งในประเทศให้ลุกโหมหนักกว่าเดิมได้

"การเลือกตั้งที่ดำเนินการโดยกองทัพจะกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น, ยืดเยื้อความขัดแย้ง และทำให้การกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างมีเสถียรภาพยากขึ้น" โนเอลีน เฮย์เซอร์ กล่าวในถ้อยแถลง พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมสร้างจุดยืนที่เป็นเอกภาพในการแก้ไขปัญหาในเมียนมา

เช่นเดียวกับที่อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า เขากังวลกับเจตนาให้เกิดการเลือกตั้งของกองทัพเมียนมาที่ยังคงทำการจับกุม, ข่มขู่ และคุกคามผู้นำทางการเมือง, ภาคประชาสังคม แม้กระทั่งสื่อมวลชน

"หากไม่มีเงื่อนไขที่อนุญาตให้ประชาชนชาวเมียนมาใช้สิทธิทางการเมืองอย่างเสรี การเลือกตั้งที่ยัดเยียดให้เกิด จะไม่นำไปสู่สภาวะทางการเมืองที่มีเสถียรภาพได้" กูเตอร์เรสระบุในถ้อยแถลง

การเลือกตั้งครั้งก่อนในเดือนพฤศจิกายน 2563 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซานซูจี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น พร้อมจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี แต่กองทัพกลับก่อรัฐประหารด้วยข้ออ้างว่ามีการฉ้อโกงการเลือกตั้ง และตั้งแต่นั้นเมียนมาก็ประสบแต่ปัญหาความวุ่นวายในประเทศตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลทหารมีกำหนดสิ้นสุดในเดือนมกราคม หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญระบุว่าผู้มีอำนาจต้องกำหนดแผนจัดการเลือกตั้งใหม่.

เพิ่มเพื่อน