อเมริกาติดกลุ่มประเทศ 'ประชาธิปไตยเสื่อมถอย' ครั้งแรก

หน่วยงานคลังสมองอินเตอร์เนชันแนลไอดีอีเอจากสวีเดนเผยรายงาน "สถานะประชาธิปไตยโลก" ประจำปี 2564 เมื่อวันจันทร์ จัดให้สหรัฐอเมริกาอยู่ในกลุ่มประเทศที่ประชาธิปไตย "เสื่อมถอย" เป็นครั้งแรก ด้วยอานิสงส์จาก "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

แฟ้มภาพ ผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ บุกอาคารรัฐสภาสหรัฐ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 เพื่อขัดขวางการรับรองโจ ไบเดน เป็นผู้ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี (Getty Images)

เอเอฟพีรายงานเมื่อวันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ว่าสถาบันระหว่างประเทศเพื่อประชาธิปไตยและความช่วยเหลือด้านการเลือกตั้ง (อินเตอร์เนชันแนลไอดีอีเอ) จากกรุงสตอกโฮล์ม เผยแพร่รายงาน "สถานะประชาธิปไตยโลก 2564" ที่มาจากการสำรวจตัวบ่งชี้ทางประชาธิปไตยใน 160 ประเทศทั่วโลก โดยจัดแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย (รวมถึงประเทศที่ประชาธิปไตยเสื่อมถอย), ประเทศที่มีรัฐบาลแบบลูกผสม และระบอบอำนาจนิยม

รายงานฉบับนี้กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนทั่วโลกเกิน 1 ใน 4 มีชีวิตอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่กำลังเสื่อมถอย โดยสัดส่วนจะเพิ่มเป็นมากกว่า 2 ใน 3 เมื่อรวมกับระบอบอำนาจนิยมหรือระบอบลูกผสม และปีนี้ยังเป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาถูกจัดให้เป็นประเทศประชาธิปไตยเสื่อมถอย แม้รายงานจะระบุว่า ข้อมูลของสถาบันบ่งชี้ว่า ภาวะเสื่อมถอยในสหรัฐนั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 เป็นอย่างน้อย

อเล็กซานเดอร์ ฮัดสัน ผู้ร่วมเขียนรายงาน กล่าวกับเอเอฟพีว่า สหรัฐเป็นประเทศประชาธิปไตยประสิทธิภาพสูง ทั้งยังปรับปรุงประสิทธิภาพในตัวบ่งชี้ของการบริหารที่เป็นกลาง (การคอร์รัปชันและการบังคับใช้ที่คาดการณ์ได้) ในปี 2563 ทว่าความถดถอยในเสรีภาพพลเรือนและการตรวจสอบรัฐบาลบ่งชี้ว่ามีปัญหาร้ายแรงกับรากฐานของประชาธิปไตย

"จุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์เกิดในปี 2563-2564 เมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งคำถามถึงความชอบด้วยกฎหมายของผลการเลือกตั้งในสหรัฐเมื่อปี 2563" รายงานกล่าว

ยิ่งกว่านั้น ฮัดสันชี้ถึง "ความถดถอยในคุณภาพของเสรีภาพในการรวมตัวและการชุมนุมระหว่างการประท้วงเมื่อฤดูร้อนปี 2563" ภายหลังเหตุการณ์ที่ตำรวจทำให้จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสี เสียชีวิต

ในภาพรวม รายงานกล่าวว่า จำนวนประเทศประชาธิปไตยเสื่อมถอยเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทศวรรษที่ผ่านมา โดยตอนนี้เท่ากับ 1 ใน 4 ของประชากรโลก นอกเหนือจากประชาธิปไตยเก่าแก่อย่างสหรัฐแล้ว รายชื่อในกลุ่มนี้ยังรวมถึงประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) อย่างฮังการี, โปแลนด์ และสโลวีเนีย

ยูเครนและนอร์ทมาซิโดเนียเคยอยู่กลุ่มนี้เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้ถูกถอดออกเพราะสถานการณ์ดีขึ้น ส่วนมาลีและเซอร์เบียไม่อยู่ในกลุ่มนี้ เพราะไม่ถือว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยอีกต่อไปแล้ว

ปี 2563 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ที่ประเทศที่หันเหไปสู่ระบอบอำนาจนิยมมีมากกว่าประเทศที่เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย และอินเตอร์เนชันแนลไอดีอีเอคาดการณ์ว่าแนวโน้มนี้จะยังคงต่อเนื่องถึงปี 2564

การประเมินชั่วคราวของสถาบันนี้สำหรับปี 2564 ทั่วโลกมีประเทศประชาธิปไตย 98 ประเทศ ต่ำที่สุดในรอบหลายปี และมีรัฐบาล "ลูกผสม" 20 ประเทศ ซึ่งรวมถึงรัสเซีย, โมร็อกโก, ตุรกี ส่วนประเทศที่อยู่ใต้ระบอบอำนาจนิยมนั้นมี 47 ประเทศ อาทิ จีน, ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, เมียนมา และไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ITD โชว์ผลสำเร็จหลักสูตร LTD รุ่นที่ 1 ชงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายขับเคลื่อน 4 อุตสาหกรรม

นายสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เปิดเผยถึงผลการศึกษาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มองไปข้างหน้าเพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาสในอนาคต (Future-Proof Policy Recommendations) ภายใต้การศึกษาอบรมหลักสูตรผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนา รุ่นที่ 1

จับตา ‘อุ๊งอิ๊ง’! โชว์วิสัยทัศน์ เวทีผู้นำเอเปก

จับตา "นายกฯ อิ๊งค์" โกอินเตอร์! บินลัดฟ้าสหรัฐ ไม่ได้พบตัวแทนทำเนียบขาว แต่ไปเจอทีมไทยแลนด์ มอบนโยบายขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาคอเมริกา

นายกฯอิ๊งค์ เตรียมบินไปสหรัฐ ร่วมประชุมเอเปก

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเยือนนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และร่วมการประชุมผู้นำประเทศ