รัฐมนตรีกลาโหมของเยอรมนีประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังถูกกดดันและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเป็นเวลาหลายเดือนเกี่ยวกับบทบาทและท่าทีที่ไม่จริงจังต่อการให้ความช่วยเหลือทางอาวุธแก่ยูเครน
แฟ้มภาพ คริสติน แลมเบรชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี (Photo by JENS SCHLUETER / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 16 มกราคม 2566 กล่าวว่า คริสติน แลมเบรชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี แถลงลาออกจากตำแหน่งหัวเรือความมั่นคงของประเทศ ก่อนหน้าการประชุมครั้งสำคัญของบรรดารัฐมนตรีกลาโหมจากประเทศพันธมิตรของยูเครน ขณะที่รัฐบาลเบอร์ลินเองอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักในการจัดหารถถังต่อสู้ให้กับรัฐบาลเคียฟ
แลมเบรชต์ วัย 57 ปี กล่าวในถ้อยแถลงว่า เธอขอให้นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ปลดออกจากตำแหน่ง
"ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพราะสื่อมวลชนเอาแต่จับจ้องเรื่องส่วนตัวของดิฉันมาเป็นเวลานานนับเดือน แทบไม่ยอมให้มีการรายงานและอภิปรายอย่างเป็นกลางเกี่ยวกับทหารและผู้หญิง รวมทั้งการตัดสินใจด้านนโยบายความปลอดภัยเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเยอรมนี" เธอกล่าว
นักการเมืองหญิงจากพรรคโซเชียลเดโมแครต (เอสพีดี) ของโอลาฟ ชอลซ์ เผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์มานานหลายเดือน จากท่าทียึกยักและลังเลในการตอบสนองต่อความขัดแย้งในยูเครน โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ที่ไม่ยินดียินร้ายต่อสถานการณ์โลกของเธอ ความกดดันถาโถมที่ได้รับจากสื่อ ทำให้เธอตัดสินใจสละตำแหน่งในที่สุด
แลมเบรชต์ซึ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในเดือนธันวาคม 2564 ได้รับการคาดหมายว่าจะสามารถจัดการกับความล้มเหลวด้านยุทโธปกรณ์ทางทหารหลายครั้งที่ทำให้กองทัพเยอรมันถูกด้อยค่า
แต่สงครามในยูเครนได้เพิ่มความเร่งด่วนให้กับงานของเธอ ทำให้เธอต้องรับผิดชอบแผนการขนาดมหึมาของเยอรมนีในการฟื้นฟูและปฏิรูปกองทัพด้วยกองทุนพิเศษมูลค่า 100,000 ล้านยูโร (ประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท) บทบาทต่อสถานการณ์โลกของเธอจึงดูเหมือนเยอรมนีไม่ได้เป็นผู้นำและให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือยูเครนมากเท่าที่ควร
การถอนตัวจากตำแหน่งของแลมเบรชต์มีขึ้นไม่กี่วันก่อนที่กลุ่มประสานการป้องกันประเทศยูเครน ซึ่งประสานงานการส่งอาวุธไปยังรัฐบาลเคียฟ มีกำหนดจะพบกันที่ฐานทัพอากาศแรมสไตน์ในเยอรมนี
ด้านโฆษกหญิงของนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ กล่าวว่า นายกฯจะประกาศชื่อรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่เร็วๆนี้ โดยมีเอวา โฮเกล กรรมาธิการรัฐสภาด้านกองกำลังติดอาวุธ และ มารี-แอกเนส สตาร์ค-ซิมเมอร์มันน์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านกลาโหมของรัฐสภา เป็นตัวเต็งสืบทอดตำแหน่งดังกล่าว.