ตอลิบันห้ามหญิงอัฟกันเรียนมหาวิทยาลัย

กลุ่มตอลิบันออกคำสั่งห้ามผู้หญิงอัฟกันทั่วประเทศเรียนมหาวิทยาลัย จนนานาชาติประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธของกลุ่มตอลิบันยืนคุ้มกันที่ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยในเมืองจาลาลาบัด ประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปเรียน หลังกลุ่มผู้ปกครองประเทศออกคำสั่งห้ามไม่ให้หญิงอัฟกันได้รับการศึกษาในมหาวิทยาลัย (Photo by AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2565 กล่าวว่า กลุ่มตอลิบัน ซึ่งเป็นผู้ปกครองประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ออกคำสั่งห้ามผู้หญิงอัฟกันทุกคนศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

"ชาวอัฟกันทุกคนได้รับแจ้งให้ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวทันทีจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม” เนดา โมฮัมหมัด นาดีม รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา กล่าวในจดหมายที่ออกถึงมหาวิทยาลัยของรัฐบาลและเอกชนทุกแห่ง

หลังคำสั่งห้ามการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของหญิงอัฟกันเผยแพร่ออกไป เสียงประณามจากสหรัฐอเมริกา และสหประชาชาติก็ตามมาทันที เพราะกลุ่มตอลิบันยังคงปฏิบัติต่อประชาชนด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน

แม้จะเคยให้คำมั่นว่าจะใช้กฎที่นุ่มนวลกว่าตอนที่พวกเขาเข้ายึดอำนาจประเทศเมื่อปีที่แล้ว แต่กลุ่มตอลิบันกลับกำหนดข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของผู้หญิงอัฟกันในทุกด้าน โดยไม่แยแสเสียงทักท้วงจากนานาชาติ

"กลุ่มตอลิบันคงไม่สามารถนำอัฟกานิสถานกลับเข้าสู่สถานะสมาชิกที่ถูกต้องตามกฎหมายของประชาคมระหว่างประเทศได้ จนกว่าพวกเขาจะเคารพสิทธิของประชาชนทุกคนในอัฟกานิสถาน การออกคำสั่งห้ามครั้งนี้จะมีผลตามมาอย่างแน่นอน คงไม่มีประเทศใดสามารถเติบโตได้หากครึ่งหนึ่งของประชากรถูกควบคุมไว้" แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์

"อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ตื่นตระหนกอย่างยิ่งต่อคำสั่งห้ามดังกล่าว สหประชาชาติขอย้ำว่าการปฏิเสธการศึกษาไม่เพียงแต่ละเมิดสิทธิที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่ออนาคตของประเทศนั้นๆด้วย" สเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเมื่อวันอังคาร

การห้ามเรียนในระดับอุดมศึกษาเกิดขึ้นเพียงไม่ถึง 3 เดือนหลังจากเด็กหญิงและผู้หญิงหลายพันคนร่วมสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยหลายคนใฝ่ฝันที่จะเลือกอาชีพครูและแพทย์เป็นอาชีพในอนาคต

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในอัฟกานิสถานอยู่ในช่วงปิดเทอมฤดูหนาว และจะเปิดอีกครั้งในเดือนมีนาคม

หลังการยึดครองประเทศโดยกลุ่มตอลิบัน มหาวิทยาลัยถูกบังคับให้ใช้กฎใหม่ ทั้งการจัดห้องเรียนและทางเข้าแบบแบ่งแยกเพศ ในขณะที่นักศึกษาหญิงได้รับอนุญาตให้มีการสอนโดยอาจารย์ผู้หญิงหรือชายชราเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ เด็กสาววัยรุ่นส่วนใหญ่ทั่วประเทศถูกห้ามไม่ให้ศึกษาในชั้นมัธยมแล้ว ซึ่งเป็นการจำกัดการเข้ามหาวิทยาลัยโดยตรง

ทั้งนี้ กลุ่มตอลิบันยึดมั่นในแนวทางกฎหมายชารีอะฮ์ของอิสลามอย่างสุดโต่ง โดยมีฮิบาตุลเลาะห์ อัคฮุนด์ซาดา ผู้นำสูงสุดและกลุ่มนักบวชชาวอัฟกัน ร่วมต่อต้านการศึกษาสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กหญิงและสตรี

นับตั้งแต่มีคำสั่งห้ามฯ เด็กสาววัยรุ่นอัฟกันจำนวนมากเลือกแต่งงานก่อนกำหนด กับผู้ชายที่มักจะสูงอายุกว่าและเป็นคนที่พ่อของพวกเขาเลือกให้

หลายครอบครัวที่เคยให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีเมื่อเดือนก่อนกล่าวว่า เนื่องด้วยแรงกดดันทางเศรษฐกิจ การถูกระงับการศึกษาจึงผลักดันให้ครอบครัวต้องรักษาอนาคตของลูกสาวด้วยการแต่งงาน ดีกว่าการนั่งเฉยๆ อยู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม คำสั่งห้ามดังกล่าวนอกจากจะนำมาซึ่งเสียงประณามจากนานาชาติแล้ว ยังนำมาซึ่งน้ำตา, เสียงร้องไห้ และความโศกเศร้าของผู้หญิงในอัฟกานิสถาน จนต้องออกมาเรียกร้องสิทธิผ่านโลกโซเชียลด้วยการติดแฮชแท็ก #LetHerLearn.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ

กสม. เผยผลการตรวจสอบศูนย์บำบัดยาเสพติดจ.ปัตตานี ถูกร้องเรียนละเมิดสิทธิฯ

กสม. ตรวจสอบกรณีศูนย์บำบัดยาเสพติดใน จ.ปัตตานี ถูกร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิฯ แนะหน่วยงานสนับสนุนจัดตั้งเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายเพื่อกำกับดูแลอย่างเหมาะสม

'อังคนา' เผยสหประชาชาติจี้ไทยรับผิดชอบการสูญหายของ 'ทนายสมชาย' เมื่อ20ปีก่อน

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักเคลื่อนไหวสตรี ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทยที่หายสาบสูญ โพสต์ข่าวสารจากเว็บไซต์ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่า

กสม. ชี้ผู้ต้องขังร้องเรียนถูกตร.ปปส.ทำร้ายร่างกายระหว่างจับกุมเป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ กรณีผู้ต้องขังร้องเรียนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดทำร้ายร่างกายระหว่างจับกุม เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอให้สอบสวนและเยียวยาความเสียหาย

กสม.ชี้กรมอุทยานฯเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเขื่อนศรีนครินทร์ช้า เป็นละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้กรมอุทยานฯช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ช้าถึงห้าสิบปีเป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอ ครม. เร่งแก้ไข