องค์การนาซาปล่อยดาวเทียมเพื่อสำรวจแหล่งน้ำสำคัญของโลก

นาซาปล่อยดาวเทียมสำรวจแหล่งน้ำเกือบทั้งหมดบนโลก เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับอิทธิพลหรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดาวเทียม Surface Water and Ocean Topography (SWOT) ที่ติดตั้งอยู่บนจรวด SpaceX Falcon 9 เตรียมพร้อมปล่อยตัวสู่อวกาศในภารกิจสำรวจและเก็บข้อมูลแหล่งน้ำสำคัญทั้งหมดบนโลก ภายใต้โครงการความร่วมมือขององค์การนาซา (NASA) ของสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานด้านอวกาศ (CNES) ของฝรั่งเศส ที่ฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์กในแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม (Photo by Patrick T. Fallon / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2565 กล่าวว่า องค์การนาซา (NASA) ทำการปล่อยดาวเทียมจากฐานปฏิบัติการเมื่อวันศุกร์ เพื่อใช้ในภารกิจสำรวจแหล่งน้ำสำคัญทั่วทั้งหมดบนโลก

ดาวเทียม Surface Water and Ocean Topography (SWOT) ซึ่งเป็นโครงการมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่พัฒนาร่วมกันโดยองค์การนาซาและหน่วยงานอวกาศ CNES ของฝรั่งเศส ถูกปล่อยออกจากฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์กในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเวลา 11.46 น. ตามเวลาท้องถิ่น

ตามคำแถลงของนาซา ดาวเทียมดังกล่าวจะเริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในอีกประมาณ 6 เดือนหลังจากนี้ เพื่อนำมาทำการตรวจสอบและประเมินผลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับอิทธิพลหรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คาเรน แซ็ง แชแม็ง ผู้อำนวยการแผนกวิทยาศาสตร์โลกของนาซา กล่าวว่า "SWOT จะนำความก้าวหน้าครั้งสำคัญมาสู่เรา ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของน้ำรอบโลก"

"เราจะสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับกระแสน้ำวนและการหมุนเวียนของน้ำในมหาสมุทรที่เราไม่เคยมองเห็นมาก่อน"

เธอกล่าวว่าสิ่งนี้จะช่วยคาดการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ที่มีน้ำมากเกินไป และจัดการน้ำในพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะเกิดภัยแล้ง

เซลมา เชอชาลี จาก CNES หน่วยงานอวกาศของฝรั่งเศส กล่าวในการแถลงข่าวว่า ดาวเทียม SWOT เป็นตัวแทนของการปฏิวัติด้านอุทกวิทยา โดยมีเป้าหมายที่จะให้การสังเกตการณ์ในระดับละเอียดมากกว่าเทคโนโลยีปัจจุบันถึง 10 เท่า

จากความสูงเหนือระดับพื้นดินกว่า 890 กิโลเมตร SWOT จะช่วยมอบมุมมองที่ชัดเจนที่สุดของมหาสมุทรทั้งหมดบนโลก ทำให้สามารถติดตามการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงแม่น้ำและทะเลสาบได้

ดาวเทียมจะสามารถวัดความสูงของน้ำในแหล่งน้ำจืดและมหาสมุทรบนพื้นผิวโลกได้มากกว่า 90% และจะติดตามเก็บข้อมูลทั้งหมดอย่างน้อย 1 ครั้งในทุกๆ 21 วัน

นักวิจัยจะสามารถรับข้อมูลเกี่ยวกับทะเลสาบหลายล้านแห่ง แทนที่จะเป็นเพียงไม่กี่พันแห่งที่มองเห็นได้จากอวกาศในปัจจุบัน

ปัจจุบันนาซากำลังดำเนินภารกิจอวกาศประมาณ 25 ภารกิจในการสังเกตการณ์โลก และ SWOT จะเป็นเหมือนแว่นตาที่สามารถทำให้เห็นภาพทุกอย่างชัดเจนยิ่งขี้น

ดาวเทียมจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดีขึ้น รวมถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ปริมาณความร้อนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่มหาสมุทรสามารถดูดซับได้

"เราทราบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศว่าวัฏจักรของน้ำในโลกกำลังเปลี่ยนแปลงมากขึ้น สิ่งนี้หมายความว่าสถานที่บางแห่งอาจมีปริมาณน้ำมากเกินไป ขณะที่บางแห่งอาจจะมีไม่เพียงพอ ปัจจุบันเราเห็นความแห้งแล้งที่รุนแรงมากขึ้น น้ำท่วมรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องพยายามทำความเข้าใจให้แน่ชัดว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับแหล่งน้ำบนโลกใบนี้" เบนจามิน แฮมลิงตัน นักวิทยาศาสตร์ด้านการวิจัยของนาซากล่าว

เธียรี ลาฟอง หัวหน้าโครงการ SWOT ของ CNES กล่าวว่า ภารกิจนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปีครึ่ง แต่อาจขยายไปถึง 5 ปีหรือมากกว่านั้น

เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำและเป็นหัวใจของภารกิจดาวเทียมนี้เรียกว่า KaRin ซึ่งเป็นเรดาร์อินเตอร์เฟอโรมิเตอร์แบบ Ka-band ที่ CNES คาดหวังให้เป็น "เรือธงสำหรับเครื่องวัดความสูงรุ่นใหม่ในอวกาศ"

เรดาร์ดังกล่าวจะส่งสัญญาณที่สะท้อนกลับจากผิวน้ำ โดยเสียงสะท้อนนี้จะรับได้ด้วยเสาอากาศ 2 เสา ซึ่งจะทำให้ได้ชุดข้อมูล 2 ชุดที่ให้ความแม่นยำสูงสำหรับการตรวจจับน้ำด้วยความละเอียด

หน่วยงานด้านอวกาศของสหรัฐฯ และฝรั่งเศสทำงานภาคสนามร่วมกันมากว่า 30 ปี โดยดาวเทียมรุ่นก่อนหน้านี้ ช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับการไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทรและผลกระทบที่มีต่อสภาพอากาศโลก และยังช่วยในการพยากรณ์ปรากฏการณ์สภาพอากาศเอลนีโญ เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2540-2541 อีกด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'มาริษ' ขอบคุณนานาชาติเลือกไทยนั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

'รมว.กต.' ขอบคุณ หลังไทยได้รับเลือกนั่ง HRC วาระ 2568-2570 ยืนยันจะเป็นสะพานเชื่อมความแตกต่างของชาติสมาชิก แสดงความมุ่งมั่นส่งเสริมสถานะประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนไทยให้เป็นที่ยอมรับ

'ดร.ธรณ์' ชี้มหาพายุเฮอริเคน 'มินตัน' สภาพอากาศสุดขั้ว คนอเมริกานับล้านต้องอพยพหนี

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

กอล์ฟ'เพรสซิเดนท์ คัพ 2024' ทีม'นานาชาติพบอเมริกา' ทรูวิชั่นส์ถ่าย26ก.ย.นี้

การแข่งขันการหวดวงสวิงส่งท้ายเดือนกันยายน กอล์ฟ เพรสซิเดนท์ คัพ 2024 กับประเภททีม ที่เป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีระหว่างทีมนานาชาติ (ยกเว้นยุโรป) เจ้าภาพ พบกับทีมสหรัฐอเมริกา วันที่ 26 – 30 กันยายนนี้ จากมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์กันอีกครั้งว่า ตำแหน่งแชมป์ปีนี้จะเป็นของทีมใด