องค์การอนามัยโลกเตรียมยกเลิกภาวะฉุกเฉินโรคโควิดและฝีดาษลิงในปี 2566

องค์การอนามัยโลกเตรียมยกเลิกภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศต่อโรคโควิด-19 และโรคฝีดาษลิงในปี 2566 เนื่องจากประเมินว่าทั้งสองโรคได้ผ่านพ้นระยะที่อันตรายที่สุดไปแล้ว

แฟ้มภาพ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (Getty Images)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2565 กล่าวว่า ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมประกาศยกเลิกให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) และโรคฝีดาษลิง (Mpox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศในปี 2566

กีบรีเยซุส กล่าวเมื่อวันพุธว่า หนึ่งในบทเรียนหลักจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ก็คือ ประเทศต่างๆ ต้องตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการระบาดที่เกิดขึ้น โดยยอดผู้เสียชีวิตรายสัปดาห์ล่าสุดตอนนี้อยู่ที่ประมาณหนึ่งในห้าของปีที่แล้ว

"เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตไม่ถึง 10,000 คน แต่ก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ยังสูงอยู่ ซึ่งแต่ละประเทศยังมีอะไรต้องทำอีกมากเพื่อช่วยทุกชีวิตให้ได้มากที่สุด แต่เราเองก็เดินทางมาไกลจากจุดเริ่มต้นมากแล้ว หวังว่าในปีหน้าเราจะสามารถพูดได้ว่าโควิด-19 ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศอีกต่อไป" เขากล่าวในการแถลงข่าว

กีบรีเยซุส กล่าวเสริมว่า "ไวรัสชนิดนี้จะไม่หายไป และทุกประเทศต้องเรียนรู้ที่จะจัดการกับมันควบคู่ไปกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เรายังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนและความท้าทายมากมายในปี 2566 ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอีกมากในประเทศที่มีรายได้น้อย ความไม่เท่าเทียมนี้เอง จะทำให้เกิดช่องว่างในการเฝ้าระวังการระบาด"

สำหรับโรคฝีดาษลิง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวถึงว่า การระบาดไปทั่วโลกของฝีดาษลิงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างมาก มีรายงานผู้ป่วยมากถึง 82,000 รายจาก 110 ประเทศ และแม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจะยังต่ำอยู่ที่ตัวเลขประมาณ 65 ราย แต่การตอบสนองอย่างรวดเร็วด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศในเดือนกรกฏาคม ช่วยให้ตัวเลขผู้ป่วยรายสัปดาห์ลดลงมากกว่า 90%

"หากทิศทางการระบาดยังคงดำเนินต่อไปในแนวโน้มที่ดี หวังว่าปีหน้าเราจะสามารถประกาศยุติภาวะฉุกเฉินเหล่านี้ได้" ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวทิ้งท้าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

8 ปัจจัยที่เอื้อต่อผลสำเร็จ ในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ของระบบสุขภาพไทย

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เจ้าของรางวัลผู้นำสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่บทความเรื่อง 8 ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนของระบบสุขภาพไทย มีเนื้อหาดังนี้