สหประชาชาติแฉ เมียนมาตัดสินประหารชีวิตนักศึกษา 7 คน

รัฐบาลทหารเมียนมาพิจารณาโทษประหารชีวิตแก่นักศึกษาเพิ่มอีกอย่างน้อย 7 คนในสัปดาห์นี้ ทำให้ยอดนักโทษประหารรวมเพิ่มเป็น 139 คนแล้ว

โวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Photo by VALENTIN FLAURAUD / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม 2565 กล่าวว่า สหประชาชาติแถลงความคืบหน้าด้านมนุษยชนในเมียนมา พบว่าล่าสุดรัฐบาลทหารเตรียมประหารชีวิตนักโทษเพิ่มอีกอย่างน้อย 7 คน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้มีการเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้รัฐบาลทหารเมียนมาชี้แจง แต่โฆษกรัฐบาลทหารไม่ตอบสนองต่อการเรียกร้องดังกล่าวเพื่อขอคำยืนยันเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตครั้งล่าสุด ซึ่งสหประชาชาติเชื่อว่าโทษประหารถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม

เมียนมาประสบแต่ความวุ่นวายนับตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนของออง ซาน ซูจีถูกโค่นล้มด้วยการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศกลับสู่ระบอบเผด็จการดังเดิม

โวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุในถ้อยแถลงว่า นักศึกษาชายอย่างน้อย 7 คนถูกตัดสินประหารชีวิตโดยศาลทหารเมื่อวันพุธ

"ด้วยการใช้โทษประหารเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อบดขยี้ฝ่ายตรงข้าม กองทัพทหารเมียนมาตอกย้ำเจตนาที่จะละเลยความพยายามของประชาคมอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศในการยุติความรุนแรงและกำลังสร้างเงื่อนไขทางสิทธิมนุษยชนในวิกฤติที่เกิดขึ้นโดยทหาร" โวลเกอร์ เติร์กกล่าว

รายงานของสื่อท้องถิ่นระบุว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยในกรุงย่างกุ้งถูกจับกุมเมื่อเดือนเมษายน และถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุกราดยิงธนาคาร

"การกำหนดโทษประหารชีวิตนักศึกษาเป็นการแก้แค้นของกองทัพ” สหภาพนักศึกษาระบุในถ้อยแถลง

สหประชาชาติกำลังสืบสวนรายงานเกี่ยวกับเยาวชนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก 4 คนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในวันพฤหัสบดี

"กองทัพเมียนมายังคงดำเนินคดีในศาลลับโดยละเมิดหลักการพื้นฐานของการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม และขัดต่อการรับประกันความเป็นอิสระและความเป็นกลางของกระบวนการยุติธรรม" เติร์กกล่าว

เขากล่าวว่า การพิจารณาของศาลลับบางครั้งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีและผู้ที่ถูกคุมขังมักไม่สามารถเข้าถึงทนายความหรือครอบครัวของพวกเขาได้

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ร่วมต่อต้านโทษประหารชีวิตดังกล่าวด้วยการติดแฮชแท็ก เช่น "StopExecuteOurStudents"

การตัดสินประหารชีวิตครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ซึ่งครั้งนั้นมีอดีตนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยรวมอยู่ด้วย ถือเป็นการใช้โทษประหารชีวิตครั้งแรกของรัฐบาลเมียนมาในรอบ 30 ปี และก่อให้เกิดเสียงประณามไปทั่วโลก

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ อาเซียน ซึ่งพยายามช่วยเหลือให้เกิดการฟื้นฟูสันติภาพในเมียนมามาตลอด ย้ำเตือนรัฐบาลทหารเมื่อเดือนสิงหาคมไม่ให้ดำเนินการประหารชีวิตนักโทษการเมืองอีกต่อไป

ทั้งนี้ มีรายงานว่าพลเรือนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 2,280 ราย และอีก 11,637 คนยังคงถูกควบคุมตัวโดยกองทัพ ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปราบปรามผู้เห็นต่างของรัฐบาลทหาร ตามการระบุของกลุ่มเฝ้าติดตามในท้องถิ่น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง