มลพิษยังวิกฤติ กรุงนิวเดลีสั่งปิดโรงเรียนไม่มีกำหนด

คุณภาพอากาศยังวิกฤติ กรุงนิวเดลีของอินเดียสั่งปิดสถานศึกษาอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากมลพิษอยู่ในระดับอันตราย พร้อมออกมาตรการห้ามรถบรรทุกวิ่ง และขอให้ราชการและเอกชนครึ่งหนึ่งทำงานจากบ้าน

หมอกควันหนาทึบปกคลุมถนนปุชตาในกรุงนิวเดลีเมื่อวันอังคารที่ 16 พ.ย. 2564 (Getty Images)

รายงานเอเอฟพีและบีบีซีเมื่อวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2564 กล่าวว่า ภาคเหนือของอินเดียและบางพื้นที่ของปากีสถานที่อยู่ติดกัน มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อันเป็นผลจากมลภาวะจากภาคอุตสาหกรรม, ควันจากการเผาในพื้นที่เกษตร และอุณหภูมิลดต่ำลงในฤดูหนาวที่รวมเข้ากับหมอกควันพิษ โดยเฉพาะที่กรุงนิวเดลี ซึ่งติดอันดับเมืองหลวงที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง

คุณภาพอากาศในเมืองหลวงของอินเดียแย่ลงมาตั้งแต่เทศกาลดิวาลีเมื่อต้นเดือนนี้ แต่ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาระดับของมลพิษอยู่ในขั้น "รุนแรง" และ "อันตราย" สัปดาห์ที่แล้วระดับของมลพิษในกรุงนิวเดลีสูงกว่าขีดจำกัดสูงสุดที่องค์การอนามัยโลกรับรองเกิน 30 เท่า

ปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงถึงขั้นที่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของประเทศมีคำสั่งให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลเดลีดำเนินมาตรการ "เร่งด่วนและทันที" เพื่อจัดการปัญหา แต่รัฐบาลนิวเดลีปฏิเสธจะประกาศ "ล็อกดาวน์มลพิษ" ที่จำกัดให้ประชากรในเมืองหลวงที่มีประชากร 20 ล้านคนแห่งนี้อยู่กับบ้าน ตามข้อเสนอของศาลสูง เนื่องจากกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ

กรุงนิวเดลีเคยสั่งให้โรงเรียนหยุดเรียนนาน 1 สัปดาห์มาตั้งแต่วันเสาร์ เพื่อปกป้องสุขภาพของเด็กจากมลพิษ แต่คืนวันอังคารที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดการคุณภาพอากาศของกรุงนิวเดลีได้ขยายคำสั่งปิดสถานศึกษาทุกแห่งอย่างไม่มีกำหนด นอกจากนี้ ยังห้ามการทำงานก่อสร้างไปจนถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน ยกเว้นงานก่อสร้างที่เกี่ยวกับการขนส่งและโครงการด้านกลาโหม

มาตรการอื่นที่ประกาศในครั้งนี้ รวมถึงการฉีดพ่นละอองกำจัดมลภาวะหมอกควัน ตามจุดที่มีมลพิษสูงอย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง และสั่งให้โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 6 แห่งจาก 11 แห่งรอบกรุงเดลี หยุดดำเนินการชั่วคราว และห้ามรถบรรทุกเข้าเมืองหลวงและรัฐเพื่อนบ้าน ได้แก่ อุตตรประเทศ, ปัญจาบ, หรยาณา และราชสถาน จนถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน ยกเว้นการขนส่งสินค้าอุปโภคที่จำเป็น

คณะกรรมการคุณภาพอากาศยังเรียกร้องให้ลูกจ้างรัฐบาลในเมืองหลวงและรัฐอื่นๆ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งทำงานจากบ้าน และขอให้บริษัทเอกชนใช้แนวทางเดียวกันด้วย เพื่อลดการปล่อยควันเสียจากยานพาหนะและลดระดับของฝุ่นละออง.

เพิ่มเพื่อน