เอสพีดีคว้าชัยเลือกตั้งเยอรมนี ไล่พรรคแมร์เคิลเป็นฝ่ายค้าน

โอลาฟ ชอลซ์ ผู้แทนพรรคเอสดีพีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รับช่อดอกไม้หลังจากนำพรรคชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 (Getty Images)

ผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าพรรคสังคมประชาธิปไตย (เอสพีดี) ชนะอย่างฉิวเฉียด "โอลาฟ ชอลซ์" ชี้พรรคอนุรักษนิยมของนายกฯ อังเกลา แมร์เคิล สมควรเป็นฝ่ายค้านหลังพ่ายแพ้ คาดทั้งสองฝ่ายต้องแข่งกันจีบพรรคกรีนและพรรคเสรีนิยมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม 3 พรรค

    เอเอฟพีรายงานว่า ผลการนับคะแนนเบื้องต้นที่ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 27 กันยายน เอสพีดีซึ่งมีแนวทางกลาง-ซ้าย ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งที่ 25.7% เฉือนกลุ่มพันธมิตรอนุรักษนิยมพรรคซีดียู-ซีเอสยูของนางแมร์เคิลที่ได้ 24.1% ส่วนอีก 2 พรรคที่จะเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น พรรคกรีนได้คะแนนเป็นอันดับสามที่ 14.8% ส่วนพรรคประชาธิปไตยเสรี (เอฟดีพี) ได้ 11.5%

    โอลาฟ ชอลซ์ รัฐมนตรีคลังจากเอสพีดี ที่เล็งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนีต่อจากนางแมร์เคิล ซึ่งตัดสินใจไม่ลงเลือกตั้งต่อเป็นสมัยที่ 5 หลังจากครองตำแหน่งมานาน 16 ปี กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า เขาหวังว่าจะเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ก่อนวันคริสต์มาส พรรคของเขาปฏิเสธจะกลับไปจับมือกับพรรคอนุรักษนิยมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมอีกครั้ง โดยบอกว่าจากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ฝ่ายอนุรักษนิยมควรไปทำหน้าที่ฝ่ายค้าน

    ด้านอาร์มิน ลาเชต ผู้นำซีดียู-ซีเอสยู ที่นำพรรคอนุรักษนิยมทำผลงานแย่ที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวว่า เขาจะพยายามจับมือพรรคกรีนและเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะได้คะแนนเป็นอันดับสอง

    การแย่งชิงอำนาจระหว่างชอลซ์ วัย 63 และลาเชต วัย 60 ปี อาจทำให้เยอรมนีประสบกับช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนนับจากนี้ และเสี่ยงที่เยอรมนีจะหลุดบทบาทในเวทีระหว่างประเทศเป็นช่วงเวลาหนึ่ง

    หากไม่มีฝ่ายใดจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ก่อนคริสต์มาสตามที่ตั้งเป้าไว้ นางแมร์เคิลจะต้องรักษาการในเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งจะทำให้นางกลายเป็นผู้นำเยอรมนีที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แทนที่เฮลมุต โคห์ล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง