ยูกันดาจะปิดโรงเรียนทั่วประเทศปลายเดือนนี้ หลังจากรายงานยืนยันพบผู้ป่วยโรคอีโบลา 23 รายในหมู่นักเรียน และเด็กเสียชีวิตไปแล้ว 8 รายจากโรคดังกล่าว
โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐยูกันดา (Photo by Badru KATUMBA / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 กล่าวว่า เจเน็ต มูเซเวนี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของสาธารณรัฐยูกันดา ประเทศในทวีปแอฟริกา ประกาศปิดโรงเรียนทั่วประเทศภายในเดือนนี้ หลังโรคอีโบลาระบาดหนัก
สถานการณ์ล่าสุด มีรายงานยืนยันพบผู้ป่วยโรคอีโบลา 23 รายในหมู่นักเรียน และเด็กเสียชีวิตไปแล้ว 8 รายจากโรคดังกล่าว ทำให้รัฐบาลพิจารณาปิดโรงเรียนเพื่อหยุดการแพร่ระบาดในเด็ก
มูเซเวนีกล่าวว่า เบื้องต้นจะพิจารณาปิดโรงเรียน 5 แห่งในกรุงกัมปาลา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ รวมถึงเขตวากิโซที่อยู่ใกล้เคียง และมูเบนเด ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการระบาดในปัจจุบัน
"คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการปิดโรงเรียนระดับเตรียมประถมศึกษา, ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน โดยถือเป็นการปิดภาคเรียนไปในตัว และรัฐบาลหวังว่าจะช่วยตัดวงจรการระบาดของไวรัสอีโบลาในเด็กได้" มูเซเวนีกล่าวเสริม
เมื่อวันเสาร์ ยูกันดาเพิ่งขยายเวลาล็อกดาวน์เขตมูเบนเดและคาสซานดา เป็นเวลา 3 สัปดาห์ โดยทั้งสองเขตเป็นศูนย์กลางการระบาดโรคอีโบลา ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 50 ราย
มาตรการดังกล่าวรวมถึงเคอร์ฟิวตั้งแต่เช้าจรดค่ำ, การห้ามเดินทางส่วนบุคคล และการปิดตลาด, บาร์ และโบสถ์
นับตั้งแต่มีการประกาศการระบาดของโรคอีโบลาในเขตมูเบนเดเมื่อวันที่ 20 กันยายน โรคนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศยูกันดา ไม่เว้นแม้แต่เมืองหลวงกัมปาลา
ตัวเลขตามรายงานของรัฐบาลยูกันดา ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน มีผู้เสียชีวิตจากโรคอีโบลาทั้งหมด 53 ราย จากผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด 135 ราย
สายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อไวรัสอีโบลาซูดาน ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกันที่ได้ผล
อีโบลาจัดอยู่ในกลุ่มโรคชนิดเดียวกับโรคไข้เลือดออก โดยเป็นโรคติดต่อรุนแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสและสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ชื่อของโรคถูกตั้งตามชื่อแม่น้ำในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ที่เชื้อไวรัสดังกล่าวถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 2519
การแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์สามารถเกิดได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งในร่างกาย โดยอาการเจ็บป่วยหลักคือ มีไข้, อาเจียน, มีเลือดออก และท้องร่วง
ผู้ที่ติดเชื้อจะไม่แพร่เชื้อจนกว่าจะแสดงอาการ โดยเชื้อมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 2 วัน ถึง 21 วัน
ปัจจุบันยังไม่มียาที่ได้รับอนุญาตในการป้องกันหรือรักษาโรคอีโบลา แม้ว่าจะมีการพัฒนายาทดลองอยู่หลายตัวก็ตาม
การระบาดของอีโบลานั้นยากต่อการควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพแวดล้อมในเมืองใหญ่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุดช็อก! นักวิ่งมาราธอนหญิงยูกันดา ถูกแฟนเก่าราดน้ำมัน จุดไฟเผาต่อหน้าลูกสาว
นักวิ่งมาราธอนหญิงยูกันดาชื่อดัง รีเบคกา เชปเตเก (Rebecca Cheptegei) วัย 33 ปีเสียชีวิตลงในวันพฤหัสบดี (5 ก.ย.) หลังโดนไฟลวกทั้งตัว 80% โดนแฟนเก่า ดิคสัน นดีมา (Dickson Ndiema) บุกราดน้ำมันท่วมตัวก่อนจุดไฟเผาต่อหน้าลูกสาว 2 คน วันอาทิตย์ (1 ก.ย.) ที่บ้านในเคนยา กลายเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่วงการกีฬายูกันดา เพิ่งเดินทางกลับมาจากการแข่ง Paris Olympics 2024
ครม.ไฟเขียวงบกลาง 429 ล้าน ควบคุมโรคลัมปี สกิน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติ
‘หมอยง’ ชี้โรคปอดบวมในเด็กที่กำลังระบาดเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เชื้ออุบัติใหม่
มีการระบาดและเพิ่มมากขึ้นของปอดอักเสบ โดยเฉพาะในเด็ก ไม่ใช่เฉพาะประเทศจีน ยังพบมากในเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก อเมริกาในหลายรัฐ และแม้แต่ในประเทศไทย
'ยูกันดา' กับบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นสำหรับ LGBTQ
แสงแห่งสิทธิมนุษยชนกำลังหรี่ดับไปอีกหนึ่งดวง เมื่อเสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภาในยูกันดาลงมติรับร่างแก้ไขกฎหมาย เพิ่มโทษคนรักร่ว