NASA พร้อมปล่อยจรวดยักษ์สู่ดวงจันทร์อีกครั้ง หลังเลื่อนมาแล้ว 2 รอบจากปัญหาทางเทคนิค

องค์การนาซาเตรียมการปล่อยจรวดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาอีกครั้งใน 10 วันหลังจากนี้ เพื่อสานต่อโครงการกลับสู่ดวงจันทร์ที่ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมมาก

จรวด "สเปซลอนช์ซิสเต็ม" (เอสแอลเอส) ซึ่งเป็นจรวดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาขององค์การนาซา ได้รับการเคลื่อนย้ายสู่แท่นปล่อยจรวด 39บี ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรอปล่อยตามกำหนดในวันที่ 14 พฤศจิกายน ภายใต้โครงการอาร์เทมิสที่มีเป้าหมายจะส่งมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง (Photo by Gregg Newton / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2565 กล่าวว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) เตรียมปล่อยจรวด "สเปซลอนช์ซิสเต็ม" (เอสแอลเอส) สู่ดวงจันทร์อีกรอบ ภายหลังเลื่อนจากกำหนดเดิมมา 2 ครั้งเนื่องจากปัญหาทางเทคนิค

โครงการกลับไปสำรวจดวงจันทร์ที่เผชิญกับอุปสรรคมานานหลายปีและใช้เวลาในการพัฒนานานกว่าทศวรรษของสหรัฐฯ กำลังจะเดินหน้าต่อหากการปล่อยจรวดสเปซลอนช์ซิสเต็มประสบความสำเร็จ โดยจรวดดังกล่าวได้รับการซ่อมแซมเสร็จสิ้น พร้อมเติมเชื้อเพลิงจนเต็ม และถูกนำไปเตรียมรอไว้ที่แท่นปล่อยจรวด 39บี ของศูนย์อวกาศเคนเนดีเรียบร้อยแล้วในวันศุกร์

นาซากำหนดการปล่อยจรวดในช่วงกลางดึกของวันที่ 14 พฤศจิกายน โดยมีวันสำรองคือวันที่ 16 พฤศจิกายน และ 19 พฤศจิกายน

จรวดสเปซลอนช์ซิสเต็ม ซึ่งใช้งบประมาณในการพัฒนาราว 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) ถือเป็นแกนหลักในโครงการอาร์เทมิสของนาซา ที่มีเป้าหมายส่งนักบินอวกาศกลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง

สหรัฐฯเคยส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์มาแล้ว 6 ครั้ง ระหว่างปี 2512-2515 ภายใต้โครงการอะพอลโล ส่วนโครงการอาร์เทมิส ซึ่งตั้งชื่อตามเทพีฝาแฝดของเทพอะพอลโล วางเป้าหมายจะส่งมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง โดยเริ่มต้นจากภารกิจอาร์เทมิส 1 ที่จะเป็นการส่งยานไร้คนขับไปวนไกลจากดวงจันทร์ 40,000 ไมล์แล้วกลับสู่โลก

จากนั้นภารกิจอาร์เทมิส 2 จะเป็นภารกิจที่มีมนุษย์อวกาศติดไปกับแคปซูลด้วย โดยยานจะวนรอบดวงจันทร์แต่ไม่ลงจอด และตามแผนที่วางไว้ ภารกิจอาร์เทมิส 3 ของนาซาจะเป็นการส่งนักบินอวกาศหญิงคนแรกและนักบินอวกาศผิวสีคนแรกไปลงจอดที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ในปี 2568.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นาซา' นำเครื่องบินเก็บตัวอย่างอากาศเหนือน่านฟ้าไทย แก้ฝุ่นพิษในระยะยาว

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.)(NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วม NASA ศึกษาปัญหามลภาวะอากาศในไทย ภายใต้โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality หรือ ASIA-AQ เก็บตัวอย่างอากาศเหนือน่านฟ้าไทย

ครั้งแรกกับหนังอวกาศไทย 'ยูเรนัส2324' ทุ่มทุนสร้างยาน-สถานีอวกาศเท่าของจริง!

เรียกเสียงฮือฮาให้กับแวดวงอุตสาหกรรมหนังไทยไม่น้อย เมื่อได้เห็นภาพยานอวกาศและสถานีอวกาศขนาดเสมือนจริงของภาพยนตร์ “URANUS2324” (ยูเรนัส2324) ที่นำแสดงโดย 2 นักแสดงหญิงสุดฮอต “ฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ” และ “เบคกี้-รีเบคก้า แพทริเซีย อาร์มสตรอง” ผลงานมาสเตอร์พีซโดยบริษัท เวลเคิร์ฟ สตูดิโอ กับการทุ่มทุนสร้างโปรดักชันฟอร์มยักษ์ที่สุดแห่งปี เพื่อถ่ายทำซีนบนยานอวกาศและสถานีอวกาศอย่างสมจริง