50 ชาติสมาชิกยูเอ็น ลงนามและอ่านแถลงการณ์ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนในซินเจียง

50 ชาติสมาชิกของสหประชาชาติ ลงนามในแถลงการณ์ที่อ่านระหว่างการอภิปรายของสหประชาชาติ พร้อมประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงและเป็นระบบ ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

สำนักงานใหญ่ของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือโอเอชซีเอชอาร์ (OHCHR) ในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Photo by Fabrice COFFRINI / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน 2565 กล่าวว่า การอภิปรายของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันจันทร์ โดยคณะกรรมการชุดที่ 3 ซึ่งดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้มีการอ่านแถลงการณ์ซึ่งลงนามโดย 50 ชาติสมาชิกของสหประชาชาติหรือยูเอ็น ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

แถลงการณ์ดังกล่าว ซึ่งอ่านโดยตัวแทนสมาชิกจากประเทศแคนาดา กล่าวว่า "เรามีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องต่อชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิมส่วนใหญ่ในซินเจียง การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ได้ตามข้ออ้างของจีนที่ว่าทำไปเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย"

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือโอเอชซีเอชอาร์ (OHCHR) ได้เผยแพร่รายงานที่ใช้เวลารวบรวมข้อมูลกว่า 1 ปีในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน โดยเฉพาะในเขตปกครองตนเองซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

รายงานดังกล่าวระบุรายละเอียดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากในจีน รวมถึงการทรมานและบังคับใช้แรงงานต่อชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่น ๆ ในภูมิภาคทางตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นระยะเวลายาวนาน และสรุปว่า ขอบเขตของการควบคุมตัวโดยพลการและการเลือกปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์และชนมุสลิมของจีน อาจถือเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ พร้อมเรียกร้องให้ทั่วโลกหันมาสนใจและแก้ไขประเด็นดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

รัฐบาลจีนได้ออกมาตอบโต้รายงานดังกล่าว พร้อมปฏิเสธการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่ถูกกล่าวหา และชี้ว่าสหประชาชาติเป็นอันธพาลและผู้สมรู้ร่วมคิดของสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก

ทั้งนี้ 50 ชาติสมาชิกที่ลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย, อิสราเอล, ตุรกี, กัวเตมาลา,โซมาเลีย เป็นต้น

บรรดาชาติสมาชิกที่ลงนาม ได้ทำการเรียกร้องให้รัฐบาลปักกิ่งปฏิบัติตามคำแนะนำของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงการดำเนินการตามขั้นตอนในทันทีเพื่อปล่อยตัวบุคคลที่ถูกลิดรอนเสรีภาพตามอำเภอใจในซินเจียง และให้ชี้แจงชะตากรรมและที่อยู่ของสมาชิกในครอบครัวของบุคคลเหล่านั้นที่หายไปโดยด่วน พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการติดต่อและนำบุคคลเหล่านั้นกลับสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัย

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม จีนพยายามหลีกเลี่ยงการอภิปรายเกี่ยวกับรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในสวิตเซอร์แลนด์ จึงมีเสียงเรียกร้องให้จัดอภิปรายขึ้นอีกครั้งให้ได้ เพื่อให้จีนแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั่วโลกจับตา! 'คดีตากใบ' สะท้อนไทยล้มเหลว ปล่อยละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำ

แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย หวั่นคดีตากใบหมดอายุความ กลายเป็นใบเบิกทางละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก ชี้ชัด ทั่วโลกจับตาดูอยู่ เชื่อจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบนเวทีสาธารณะระหว่างประเทศต่อเนื่อง

เปิดผลตรวจสอบ 'คดีไซยาไนด์' ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนคดีไซยาไนด์ ชี้ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและตีตราผู้ต้องหา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. แนะแก้ปัญหาความเป็นอยู่ผู้ถูกควบคุมตัวของรัฐ ให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน

กสม. เผยผลตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวของรัฐ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของผู้ถูกควบคุมตัวให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน