เบลารุส-รัสเซีย-ยูเครนคว้าโนเบล

อเลส เบียเลียตสกี นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวเบลารุส, องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนของรัสเซียชื่อ “เมโมเรียล” และศูนย์เสรีภาพพลเรือนในยูเครน เป็นผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ที่โลกเผชิญกับสงครามในยูเครน
          เอเอฟพีรายงานคณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประกาศผลผู้ชนะรางวัลในปีนี้ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม 2565 โดยมีผู้ชนะ 1 คน และ 2 องค์กรที่จะได้แบ่งรางวัลกัน ได้แก่ อเลส เบียเลียตสกี (Ales Bialiatski) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุยชนชาวเบลารุสที่ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่, องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนของรัสเซียชื่อ “เมโมเรียล” (Memorial) และศูนย์เสรีภาพพลเรือน (Center for Civil Liberties) ในยูเครน
          เบริต ไรส์-อันเดอร์เซน หัวหน้าคณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพกล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงออสโลเมื่อวันศุกร์ว่า ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเหล่านี้ พยายามอย่างโดดเด่นในการบันทึกอาชญากรรมสงคราม, การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้อํานาจในทางที่มิชอบ พวกเขาร่วมกันแสดงให้เห็นถึงความสําคัญของภาคประชาสังคมที่ทำให้เกิดสันติภาพและประชาธิปไตย
          คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเรียกร้องให้รัฐบาลเบลารุสปล่อยตัวเบียเลียตสกี วัย 60 ปี ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่ปี 2564
          ภรรยาของเบียเลียตสกีกล่าวว่า เธอรู้สึกตื้นตันมากหลังทราบข่าวว่าสามีเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
          แม้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจะไม่ใช่สารโดยตรงส่งถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย แต่ไรส์-อันเดอร์เซนเรียกรัฐบาลรัสเซียว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการที่กำลังปราบปรามนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการต้องการเน้นว่าปูตินเป็นผู้ปราบปรามภาคประชาสังคมและผู้ต่อสู้เรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน
          สำหรับองค์กรเมโมเรียลที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนใหญ่ที่สุดในรัสเซีย ศาลฎีการัสเซียมีคำสั่งยุบศูนย์กลางขององค์กรที่เรียกว่า “เมโมเรียล อินเตอร์เนชั่นแนล” เมื่อเดือนธันวาคม 2564
          เมโมเรียลทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางจัดเก็บเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ยุคสตาลิน รวมถึงรวบรวมและจัดระบบข้อมูลเกี่ยวกับการกดขี่ทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัสเซีย
          ศูนย์เสรีภาพพลเรือนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของยูเครนก่อตั้งในปี 2550 หลังการรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ศูนย์แห่งนี้มีส่วนในความพยายามที่จะระบุและบันทึกอาชญากรรมสงครามของรัสเซียที่กระทำต่อพลเรือนยูเครน
          เมื่อปีที่แล้วรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมอบให้กับนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อมวลชน 2 คน ได้แก่ มาเรีย เรสซา ผู้สื่อข่าวชาวฟิลิปปินส์ และดมิตรี มูราตอฟ ผู้สื่อข่าวชาวรัสเซีย
          ผู้ชนะรางวัลโนเบลจะได้เหรียญทอง, ประกาศนียบัตรและเงินรางวัล 10 ล้านโครนสวีเดน หรือราว 34 ล้านบาท โดยรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจะมีพิธีมอบที่กรุงออสโลในวันที่ 10 ธันวาคม.

 

เพิ่มเพื่อน