บรรดาผู้นำของชาติมหาอำนาจเรียกร้องให้เตรียมการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารทั่วโลก เนื่องจากกลัวว่าสงครามที่ยืดเยื้อในยูเครนจะส่งผลต่อฤดูเก็บเกี่ยวครั้งใหญ่ในปีหน้า และนำมาซึ่งความขาดแคลนเฉกเช่นที่ผ่านมา
การอภิปรายทั่วไปในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 77 ช่วงที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุม ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 กันยายน (Photo by TIMOTHY A. CLARY / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน 2565 กล่าวว่า การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 77 (UNGA77) เริ่มขึ้นแล้วที่นครนิวยอร์ก และในสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 20-26 กันยายน จะเป็นการอภิปรายทั่วไป (General Debate) โดยมีผู้นำรัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมหารือในหลากหลายประเด็น โดยประเด็นหลักได้แก่ สงครามยูเครน-รัสเซีย และวิกฤตความมั่นคงด้านอาหารโลก
สำหรับการประชุมนอกรอบในวันอังคาร บรรดารัฐมนตรีจากสหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา, สหภาพแอฟริกา และสเปน ได้ร่วมหารือเรื่องประเด็นการขาดแคลนอาหารซึ่งถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทั่วโลก
"ไม่มีความสงบสุขในความหิวโหย และเราไม่สามารถต่อสู้กับความหิวโหยได้หากปราศจากความสงบสุข" นายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ ของสเปน กล่าวระหว่างการประณามรัสเซียในที่ประชุมนอกรอบ
"ความจริงก็คือปูตินพยายามแบล็กเมล์ประชาคมโลกด้วยอาหาร" ซานเชซกล่าวเสริม
แม้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ จี7 เคยให้คำมั่นที่จะสนับสนุนเงินช่วยเหลือกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1 แสน 5 หมื่นล้านบาท) เพื่อบรรเทาวิกฤตการขาดแคลนอาหารทั่วโลก ไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าวิกฤตดังกล่าวจะหยั่งลึกลงไปในหลายมิติ โดยเฉพาะกับประเทศซีกโลกทางใต้ ตามความคิดเห็นของโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯกล่าวว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะขึ้นกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ในวันพุธ และจะมีการประกาศความช่วยเหลือฉบับใหม่จากสหรัฐฯ
ขณะที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ซึ่งขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ในวันอังคาร ระบุว่า ฝรั่งเศสจะจัดหาเงินทุนสำหรับการขนส่งข้าวสาลีจากยูเครนไปยังโซมาเลียซึ่งกำลังเผชิญความเสี่ยงต่อความอดอยาก
ยูเครนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของโลก และการถูกรุกรานโดยรัสเซียส่งผลให้ราคาธัญพืชโลกพุ่งสูงขึ้นจากอุปทานที่หายไปเพราะการสู้รบ
ตุรเคียและองค์การสหประชาชาติได้เป็นตัวกลางในการทำข้อตกลงส่งออกธัญพืชระหว่างยูเครนและรัสเซียเมื่อเดือนกรกฎาคม เพื่ออนุญาตให้เรือสินค้าที่บรรทุกธัญพืชสามารถแล่นผ่านทะเลดำได้อย่างปลอดภัย และกระจายสินค้าธัญพืชเหล่านั้นสู่ประเทศที่หิวโหย
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เพิ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสังเกตว่า ข้อตกลงส่งออกนี้ จะเป็นการลักลอบขนไปยังประเทศยุโรป มากกว่าจะเป็นไปเพื่อบรรเทาวิกฤตอาหารในประเทศยากจน ด้านสหรัฐฯ ออกมาโต้ว่า ธัญพืชบางส่วนที่ส่งไปฝั่งยุโรปจะถูกนำไปแปรรูปและส่งไปยังประเทศที่ยากจนต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาราคาอาหารทั่วโลกก็ได้ลดระดับลงจริงๆ จึงเห็นควรให้มีการต่ออายุข้อตกลงส่งออกธัญพืชอย่างเร่งด่วน
ความกังวลในระยะยาวที่มีต่อวิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร นอกจากธัญพืชแล้ว ปุ๋ยก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเพาะปลูกตั้งต้น ซึ่งจะกระทบต่อผลผลิตอาหารเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวรอบใหม่กำลังจะมาถึง
ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า การหยุดชะงักของการขนส่งปุ๋ยอาจเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวในอนาคตทั่วโลก
"ค่อนข้างเห็นได้ชัดว่า การหยุดชะงักของอุปทานอาหารในปัจจุบันและการสู้รบในยูเครนกำลังส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป" อัลวาโร ลาริโอ ประธานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการเกษตร กล่าว
"ปกติแล้วฤดูเก็บเกี่ยวจะเกิดขึ้น 1-2 ครั้งต่อปี และตอนนี้เริ่มเห็นเค้าลางแล้วว่าผลผลิตอาหารจะหายไปจากตลาดโลกจำนวนมากในปีหน้า ซึ่งผลกระทบวงกว้างอาจเลวร้ายยิ่งกว่าโควิดเสียอีก ยังไม่นับรวมสภาวะอากาศแปรปรวนและอุณหภูมิทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย" ลาริโอ กล่าวเสริม
รายงานร่วมระหว่างสหประชาชาติ, ยูนิเซฟ และองค์การอาหารและการเกษตรเมื่อเดือนกรกฎาคม กล่าวว่า ประชากรราว 700-800 ล้านคนได้รับผลกระทบจากความหิวโหยในปี 2564 หรือคิดเป็นร้อยละ 9.8 ของประชากรโลกทั้งหมด
ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 190 ล้านคน หากเทียบตัวเลขจากกรณีเดียวกันในปี 2562 และ 2563 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจอาหารของโลก
เมื่อไม่นานมานี้ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เคยกล่าวไว้ว่า โลกมีอาหารเพียงพอในปี 2565 แต่ปัญหาคือการกระจายอาหารเหล่านั้นให้สมดุลกับคนทุกกลุ่มทุกพื้นที่ ซึ่งหากสถานการณ์ด้านอาหารไม่มั่นคงในปีนี้ โลกจะเสี่ยงต่อภัยขาดแคลนอาหารอย่างแท้จริงในปีหน้า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ภูมิธรรม' เสียใจ 'คดีตากใบ' หมดอายุความ ขอให้เป็นบทเรียน ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น
'ภูมิธรรม' เสียใจคดีตากใบหมดอายุความ ย้ำเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มที่แล้ว ไม่มีปัญหากรณี UN แสดงความกังวลยืน ยันรัฐบาลไม่ได้ปล่อยให้คดีหมดอายุความ ขอให้เป็นบทเรียนนำไปศึกษาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น