สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสระหว่างการประชุมผู้นำศาสนาต่างๆ ในคาซัคสถานเมื่อวันพุธว่า พระเป็นเจ้าไม่ได้ทรงชี้นําศาสนาไปสู่สงครามซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่ต้องสงสัยไปถึงพระอัครบิดรคีริลล์ ประมุขของคริสตจักรรัสเซียออร์โธดอกซ์ซึ่งสนับสนุนการรุกรานยูเครนและคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
รอยเตอร์รายงานเมื่อวันพุธที่ 14 กันยายน 2565 ว่าในวันที่สองของการเสด็จเยือนคาซัคสถานของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระองค์ตรัสในการประชุมสภาผู้นำศาสนาสำคัญของโลกครั้งที่ 7 (Seventh Congress of Leaders of World and Traditional Religions) ซึ่งเป็นการประชุมของผู้นำศาสนาคริสต์, ศาสนายิว, ศาสนาอิสลาม, ศาสนาพุทธ, ศาสนาฮินดูและผู้มีความเชื่ออื่นๆ
การประชุมครั้งนี้เป็นที่จับตาเนื่องจากพระอัครบิดรคีริลล์ประมุขของคริสตจักรรัสเซียออร์โธดอกซ์มีกำหนดเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ต่อมาแถลงว่าไม่เดินทางมาร่วมประชุม โดย คริสตจักรรัสเซียออร์โธดอกซ์ส่งตัวแทนร่วมประชุม
โป๊ปฟรังซิสตรัสในที่ประชุมโต๊ะกลมขนาดใหญ่ที่พระราชวังอิสรภาพในกรุงนูร์-สุลตันของคาซัคสถานซึ่งเคยเป็นดินแตนของสหภาพโซเวียตว่า พระเป็นเจ้าเป็นองค์สันติสุข พระองค์นําทางเราเสมอในหนทางของสันติภาพ พระองค์ไม่เคยนำเราไปสู่สงคราม
พระองค์ตรัสด้วยว่า ขอให้เราให้คำมั่นสัญญากับตัวเราเองว่า เราจะยืนยันในความจําเป็นที่จะแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้วิธีการที่ไม่เป็นผลของการใช้อํานาจ, ด้วยอาวุธและการข่มขู่คุกคาม แต่โดยวิธีเดียวที่ได้รับพรจากสวรรค์และคู่ควรของมนุษย์นั้นคือการมาพบหน้ากัน, การสานเสวนาและการเจรจาต่อรองอย่างอดทน
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสซึ่งเมื่อต้นปีนี้กล่าวพาดพึงถึงพระอัครบิดรคีริลล์ว่าไม่สามารถเป็น "เด็กช่วยพิธีมิสซา" ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ตรัสกับที่ประชุมเมื่อวันพุธว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องไม่เป็นเครื่องมือสําหรับอํานาจและอํานาจต้องไม่เป็นเครื่องมือให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
พระอัครบิดรคีริลล์ให้การสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียซึ่งมองว่ายูเครนเป็นป้อมปราการต่อต้านชาติตะวันตกที่คีริลล์เรียกว่าสิ่งเสื่อมโทรม
จุดยืนในเรื่องนี้ของพระอัครบิดรคีริลล์ทําให้เกิดความแตกแยกกับสำนักวาติกันและปลดปล่อยกบฏภายในของคริสตจักรรัสเซียออร์โธดอกซ์ นําไปสู่การตัดความสัมพันธ์ของคริสตจักรออร์โธดอกซ์ท้องถิ่นบางแห่งกับคริสตจักรรัสเซียออร์โธดอกซ์
โป๊ปฟรังซิสตรัสด้วยว่าขณะที่การก่อความรุนแรงด้วยการอ้างพระนามของพระเป็นเจ้า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ “ไวรัส” แห่งความเกลียดชังและการก่อการร้ายจะไม่ถูกกําจัดให้หมดไปหากปราศจากการขจัดความอยุติธรรมและความยากจนเสียก่อน และเสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมใดๆ ไม่มีลัทธิใดมีสิทธิที่จะบีบบังคับผู้อื่นให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น
คาซักสถานประเทศในเอเชียกลางที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกประมาณ 125,000 คนจากประชากรทั้งหมด 19 ล้านคน ราว 70% ของชาวคาซัคเป็นมุสลิมและประมาณ 26% นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเป็นประธานในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณสำหรับชุมชนคาทอลิกในคาซัคสถานเมื่อบ่ายวันพุธ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด่วน! แรงงานไทยตาย 1 ราย สถานทูตไทยในอิสราเอล เผย 11 พื้นที่ห้ามทำงาน-พักอาศัย
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (11 ต.ค. 67) ได้เกิดเหตุยิงจรวดต่อสู้รถถัง (anti-tank missile) เข้าไปยังนิคมเกษตร Yir'o
‘นิพิฏฐ์’ ซัดนักการเมือง ทำอะไรอย่าอ้างชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ เพราะสิ่งที่ทำมันตรงกันข้าม
นิพิฏฐ์ซัดนักการเมืองทำอะไรแล้ว ไม่อ้างชาติ,ศาสนา,พระมหากษัตริย์
หลายฝ่ายกำลังหวั่นกลัวการตอบโต้ของอิหร่าน
นักการทูตอาหรับและกลุ่ม G7 เรียกร้องให้อิหร่านและอิสราเอลใช้ความยับยั้งชั่งใจ แต่ฝ่ายต่างๆ ในความขัดแย้งกลับใช้วาจา
องค์กรสิทธิมนุษยชนรายงานการข่มขืนหมู่ในเมืองหลวงคาร์ทูมของซูดาน
สงครามระหว่างนายพลในซูดานยืดเยื้อมานานกว่าหนึ่งปีแล้ว ขณะนี้องค์กร Human Rights Watch ได้บันทึกข้อมูล
อิหร่านขู่อิสราเอล หลังจากนายทหารปฏิวัติเสียชีวิตอีกคนในซีเรีย
การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในเมืองดามัสกัสเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนทำให้นายพลระดับสูงของอิหร่านต้องเสียชีวิต ครั้