นักโทษประหารฟ้องรบ. แจ้งฉุกละหุกก่อนขึ้นตะแลงแกง

นักโทษประหาร 2 คนฟ้องรัฐบาลญี่ปุ่น เรียกเงินชดเชย 6.4 ล้านบาท เป็นค่าปลอบใจที่ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะต้องลุ้นวันโดนแขวนคอ เนื่องจากระบบประหารชีวิตของญี่ปุ่นจะแจ้งล่วงหน้าแค่ไม่กี่ชั่วโมง

แฟ้มภาพ Getty Images

รายงานเอเอฟพีเมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2564 กล่าวว่า ระบบการประหารชีวิตนักโทษของญี่ปุ่น ซึ่งมีนักโทษเด็ดขาดรอประหารกว่า 100 ราย ตลอดหลายสิบปีมานี้ใช้วิธีการแจ้งล่วงหน้าก่อนการประหารไม่กี่ชั่วโมง และการประหารชีวิตซึ่งปกติเป็นการแขวนคอ จะรอเวลาอีกนานหลังจากมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ในวันศุกร์ มีนักโทษประหาร 2 คนตั้งทนายความฟ้องร้องรัฐบาลต่อศาลแขวงโอซากา อ้างว่า ระบบนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเรียกร้องให้แจ้งนักโทษล่วงหน้าก่อนประหาร

คำฟ้องยังเรียกเงินชดเชย 22 ล้านเยน (ราว 6.43 ล้านบาท) จากรัฐบาล โทษฐานสร้างความทุกข์ทรมานจากการที่ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความไม่รู้แน่นอนว่าจะถูกส่งขึ้นตะแลงแกงวันใด

"นี่เป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ยูทากะ อุเอดะ ทนายความของนักโทษกล่าวกับเอเอฟพี พร้อมกับอ้างว่า โดยปกติแล้วนักโทษประหารจะได้รับแจ้งล่วงหน้าก่อนการประหาร 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น และไม่มีเวลาที่จะได้พบกับทนายหรือยื่นร้องเรียน "พวกเขาอยู่อย่างหวาดกลัว คิดทุกเช้าว่า 'บางทีอาจเป็นวันนี้' เมื่อพวกเขาได้ยินเสียงรองเท้าของผู้คุม"

ญี่ปุ่นเป็นประเทศเจริญแล้วในไม่กี่ประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิต และชาวญี่ปุ่นยังคงสนับสนุนให้คงโทษนี้ ถึงแม้จะมีเสียงวิจารณ์จากนานาชาติและกลุ่มสิทธิ เมื่อปี 2562 ญี่ปุ่นประหารชีวิตนักโทษ 3 ราย ส่วนปี 2561 แขวนคอนักโทษไป 15 ราย ในจำนวนนี้ 13 รายเป็นสมาชิกลัทธิโอมชินริเกียวที่ปล่อยแก๊สพิษซารินฆ่าเหยื่อหลายรายภายในสถานีรถไฟใต้ดินโตเกียวเมื่อปี 2538.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงานกาชาดปี 2567

11 ธ.ค. 2567 เวลา 17.00 น.  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี       สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานกาชาดประจำปี 2567 ภายใต้