องค์การอนามัยโลกเตือนยุโรป เร่งดำเนินการยับยั้งฝีดาษลิง ก่อนระบาดหนัก

องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการยับยั้งการแพร่กระจายของโรคฝีดาษลิงในยุโรป หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

แฟ้มภาพ ฮานส์ คลู้ก ผู้อำนวยการภาคพื้นยุโรปขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO (Photo by Alberto PIZZOLI / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 2 กรกฏาคม 2565 กล่าวว่า ฮานส์ คลู้ก ผู้อำนวยการภาคพื้นยุโรปขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ จากสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำยุโรป ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยมีการเรียกร้องให้ชาติยุโรปดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการรับมือกับโรคฝีดาษลิง หลังเริ่มเห็นสัญญาณการระบาดก่อตัวในช่วงเดือนที่ผ่านมา

คลู้ก กล่าวว่า "องค์การอนามัยโลกขอเรียกร้องให้ชาติยุโรป ทั้งรัฐบาลและภาคสังคม เพิ่มความพยายามในการป้องกันไม่ให้โรคฝีดาษลิงลุกลามไปทั่วพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และขอให้คำนึงว่า การดำเนินการอย่างเร่งด่วนและประสานความร่วมมือกันเป็นสิ่งจำเป็น "

ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม มีการตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นนอกทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของโรคไวรัสชนิดนี้

"90% ของผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการทั้งหมดที่รับรองโดยองค์การอนามัยโลก หรือคิดเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 4,500 คน มีถิ่นฐานใน 31 ประเทศของทวีปยุโรป" คลู้กกล่าว และเสริมว่า ยุโรปยังคงเป็นศูนย์กลางของการระบาดที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ

องค์การอนามัยโลกไม่ได้พิจารณาว่าการระบาดของโรคฝีดาษลิงในปัจจุบันถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่เป็นความกังวลระหว่างประเทศ แต่จะทบทวนจุดยืนในไม่ช้านี้

องค์การอนามัยโลกระบุว่า การติดเชื้อฝีดาษลิงส่วนใหญ่พบในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน, อายุน้อย และอยู่ในเขตเมือง แม้มีการดำเนินการตรวจสอบความเป็นไปได้ในกรณีของการแพร่เชื้อทางเพศสัมพันธ์ แต่ยังยืนยันว่าการแพร่กระจายของเชื้อ เกิดผ่านการสัมผัสใกล้ชิด

โรคฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสประเภทเดียวกับไข้ทรพิษซึ่งเป็นโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้านทั่วโลกในแต่ละปี ก่อนจะค้นพบการรักษาจนโรคดังกล่าวหมดไปจากโลกนี้ในปี 2523 อย่างไรก็ตาม ฝีดาษลิงมีอาการของโรค รุนแรงน้อยกว่ามาก โดยจะเริ่มจากการเป็นไข้และเกิดผื่นขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นสะเก็ด ซึ่งปกติอาการจะไม่รุนแรงและมักจะหายไปเองตามธรรมชาติหลังจากผ่านไปสองถึงสามสัปดาห์

สหราชอาณาจักรมีจำนวนผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันแล้ว จำนวนมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน คือ 1,076 ราย ตามสถิติของหน่วยงานสาธารณสุขในประเทศ ขณะที่เยอรมนีมี 838 ราย, สเปน 736 ราย, โปรตุเกส 365 ราย และฝรั่งเศส 350 ราย จากการอ้างอิงตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งภาคพื้นยุโรป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อดีตปธ.กมธ.คมนาคม' บี้ถอดบทเรียนบัสมรณะ เร่งสร้างจิตสำนึกคนขับ-เข้มใช้กม.

'อดีตปธ.กมธ.คมนาคม' ชี้รายงานWHO ไทยครองอันดับ 1 อาเซียน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และอันดับ 9 ของโลก สาเหตุหลักคนขับรถประมาท แนะรัฐบาลถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมบัสมรณะ

เปิดผลสอบ 'ฝีดาษลิง' ธรรมชาติรังสรรค์ หรือมนุษย์ประดิษฐ์!

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "การสอบสวนฝีดาษลิงธรรมชาติสร้างสรรค์หรือมนุษย์ประดิษฐ์"

'หมอยง' เปิดผลวิจัยการให้วัคซีน หลังสัมผัสเชื้อ 'ฝีดาษลิง'

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า วัคซีนป้องกันฝีดาษ

'หมอยง' แจงยิบ 'วัคซีนฝีดาษ' รุ่น 1-3 และอาการข้างเคียง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า วัคซีนป้องกันฝีดาษ

หมอยง : เราควรจะไปฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษวานรหรือไม่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “เราควรจะไปฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษ