อินเดียออกคำสั่งห้ามพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อจัดการกับปริมาณขยะในแม่น้ำที่เน่าเสียและเป็นพิษต่อระบบนิเวศ แต่งานนี้ไม่ง่าย เพราะอาจเผชิญกับกระแสต่อต้านจากภาคการผลิตที่ยังปรับตัวไม่ทันและผู้บริโภคที่ไม่เต็มใจจะควักกระเป๋าซื้อสินค้าแพงขึ้น
ท่อระบายน้ำที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติกและขยะประเภทอื่นๆ ในกรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน โดยรัฐบาลอินเดียได้ออกคำสั่งห้ามพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อจัดการกับปัญหาขยะในแม่น้ำที่เน่าเสียและเป็นพิษต่อระบบนิเวศ (Photo by Money SHARMA / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2565 กล่าวว่า อินเดียกำลังเผชิญปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง ซึ่งตัวเลขระบุว่าประเทศนี้มีปริมาณขยะพลาสติกประมาณ 4 ล้านตันต่อปี โดยหนึ่งในสามของจำนวนนั้นไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล และมักถูกทิ้งลงในแหล่งน้ำหรือไม่ก็หลุมฝังกลบที่มักจะเกิดไฟไหม้ ทำให้มลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้น
การศึกษาเมื่อเร็วๆนี้รายงานว่า บรรดาวัวจรที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในอินเดีย กินขยะพลาสติกเป็นอาหาร ไม่ต่างกับช้างป่าทางตอนเหนือของรัฐอุตตราขัณฑ์ ที่นักวิจัยพบปริมาณขยะพลาสติกในอุจจาระที่ช้างถ่ายทิ้งไว้ ซึ่งเป็นสัญญาณการก่อตัวของความล่มสลายทางระบบนิเวศ
ปัญหาที่มีแนวโน้มรุนแรงเหล่านี้นำมาซึ่งการออกคำสั่งห้ามพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยรัฐบาลอินเดียในวันศุกร์ โดยรัฐบาลประมาณการว่าครึ่งหนึ่งของขยะพลาสติกมาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ราคาถูกและเป็นที่นิยม คำสั่งห้ามครอบคลุมตั้งแต่การผลิต, การนำเข้า และการขายสินค้าพลาสติกที่ใช้แพร่หลาย เช่น หลอดและถ้วยที่ทำจากพลาสติก ตลอดจนห่อพลาสติกของซองบุหรี่
ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นในขณะนี้ ได้แก่ ถุงพลาสติกที่มีความหนาต่ำกว่าที่กำหนด และบรรจุภัณฑ์หลายชั้น
เจ้าหน้าที่ทางการตั้งเป้าว่าจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังหลังจากนี้ เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบผู้ผลิต, ซัพพลายเออร์ และผู้จัดจำหน่าย ซึ่งเป็นต้นทางของการสร้างขยะพลาสติก และหากพบว่ามีการฝ่าฝืน อาจถูกโทษปรับสูงสุด 100,000 รูปีอินเดีย (ประมาณ 45,000 บาท) หรือโทษจำคุก 5 ปี
ภาคอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกออกมากล่าวว่า พวกเขากำลังเผชิญภาวะลำบาก เพราะการหลีกเลี่ยงไปใช้วัสดุทางการผลิตประเภทอื่นต้องใช้ต้นทุนสูงขึ้น จึงต้องการให้รัฐบาลชะลอคำสั่งห้ามดังกล่าวออกไปก่อน ส่วนบรรดาผู้บริโภคจะเผชิญปัญหากับการต้องใช้วัสดุประเภทอื่นทดแทนหรือใช้วัสดุประเภทเดียวกันที่ราคาสูงกว่าเดิม เช่น ใช้หลอดกระดาษแทนหลอดพลาสติก หรือใช้ถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้แทนถุงพลาสติกคุณภาพต่ำราคาถูกแบบเดิม ซึ่งแน่นอนว่าผู้บริโภคคงไม่อยากควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มให้กับสินค้าใช้แล้วทิ้ง ในสภาวะเศรษฐกิจหดตัวแบบนี้
ความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่ายระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค กับผู้ที่ต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและต้องการแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจัง ซึ่งคงใช้เวลาอีกนานกว่าจะถึงจุดลงตัวสำหรับทุกฝ่ายในประเทศที่มีประชากรมหาศาลกว่า 1,300 ล้านคน แห่งนี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯอิ๊งค์ ควง 'เศรษฐา' สวมชุดอินเดีย เปิดงานดิวาลี 2024 ชูเป็นซอฟต์พาวเวอร์
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สวมชุดสไตล์อินเดีย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024
สมุทรสาคร ปล่อยปลานักล่า 'ปลาหมอคางดำ' ล็อตสุดท้าย 2 หมื่นตัว
นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้ขอให้ประชาชนช่วยทางราชการในการไม่เพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ หากฝ่าฝืนมีโทษตามพระราชกำห
'ผู้เชี่ยวชาญ' แจงปมความกังวล 'ปลาเทราต์' หลุดในแหล่งธรรมชาติ
24 ก.ค. 2567- นายนิธิพัฒน์ พันธุ์ธุมจินดา นักธุรกิจ ฟาร์มปลาสวยงาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า
'ดร.ธรณ์' หวั่น ผลกระทบ 'ปลาหมอคางดำ' ไม่เกิดเฉพาะพื้นที่ แต่จะส่งผลถึงทะเลข้างนอก
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ในกรณีที่ปลาหมอคางดำลงทะเล ระบบนิเวศที่จะได้รับผลกระทบคือหาดทราย หาดเลน ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเล