'ไบเดน-วิโดโด' เรียกร้องเมียนมาปล่อยนักโทษการเมือง

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ และประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ประสานเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวนักโทษการเมือง อีกด้านอดีตทูตสหรัฐนักเจรจาไกล่เกลี่ยปล่อยตัวประกันเยือนเมียนมา คาดได้เข้าพบ "มิน อ่อง หล่าย"

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ร่วมการประชุมค็อป 26 เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 (Getty Images)

เอเอฟพีรายงานอ้างคำแถลงของทำเนียบขาวเมื่อวันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ว่าประธานาธิบดีไบเดนและประธานาธิบดีวิโดโดได้พบปะกันนอกรอบการประชุมระดับผู้นำเวทีค็อป 26 ที่นครกลาสโกว์ของสกอตแลนด์เมื่อวันจันทร์ โดยทั้งสองได้หารือกันในหลายประเด็น รวมถึง "เสรีภาพของน่านน้ำ" ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ผู้นำทั้งสองยังได้ "แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับการรัฐประหารในพม่า และเห็นพ้องกันว่า กองทัพเมียนมาต้องยุติความรุนแรง, ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน และกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว"

ประธานาธิบดีสหรัฐแสดงความสนับสนุนจุดยืนของอาเซียนกรณีเมียนมา ซึ่งบอยคอตการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนที่ผ่านมา หลังจากพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมทางไกลที่บรูไนเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้

อินโดนีเซียเตรียมจะเป็นประธานกลุ่มจี 20 ในรอบถัดไป โดยทำเนียบขาวกล่าวอีกว่า ประธานาธิบดีไบเดนสนับสนุนความเป็นผู้นำของอินโดนีเซียในอินโด-แปซิฟิก ในฐานะประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่อันดับที่ 3 ของโลก และความเป็นผู้สนับสนุนที่แข็งแกร่งของระเบียบที่อิงอยู่บนกฎข้อบังคับระหว่างประเทศ

วันเดียวกัน เอเอฟพีรายงานว่า บิล ริชาร์ดสัน อดีตทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติที่เป็นนักเจรจาช่วยเหลือตัวประกันในหลายประเทศ เดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อปฏิบัติภารกิจส่วนตัวด้านมนุษยธรรม

องค์กรริชาร์ดสันเซ็นเตอร์ของเขาเปิดเผยผ่านแถลงการณ์แจ้งการเดินทางของเขาเมื่อวันอาทิตย์ว่า ริชาร์ดสันจะหารือการส่งมอบด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19, เวชภัณฑ์ และความจำเป็นด้านสาธารณสุขอื่นๆ แต่คำแถลงไม่ได้กล่าวว่า เขาจะหยิบยกกรณีของแดนนี เฟนส์เตอร์ นักข่าวชาวอเมริกันที่ถูกคุมขังในเมียนมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม หารือกับเมียนมาด้วยหรือไม่

เฟนส์เตอร์เป็นบรรณาธิการของสำนักข่าวฟรอนเทียร์เมียนมา เขาถูกจับกุมที่สนามบินย่างกุ้งขณะเตรียมหนีออกนอกประเทศ และถูกตั้งข้อหาสนับสนุนผู้ที่ต่อต้านกองทัพและการรวมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีโทษจำคุก 6 ปี

สื่ออิสระ เมียนมานาว รายงานว่า ริชาร์ดสันมีกำหนดเข้าพบผู้นำรัฐบาลทหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ

เว็บไซต์ริชาร์ดสันเซ็นเตอร์กล่าวว่า อดีตนักการทูตและอดีตผู้ว่าการรัฐนิวเม็กซิโกรายนี้เคยเจรจาต่อรองเพื่อให้ปล่อยตัวประกันและทหารอเมริกันหลายรายในเกาหลีเหนือ, คิวบา, อิรัก และซูดาน

เขามาเยือนเมียนมาครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 โดยเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการที่ปรึกษาของรัฐบาลเมียนมาเกี่ยวกับความรุนแรงในรัฐยะไข่ปี 2560 ที่กองทัพเมียนมาภายใต้การนำของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ปราบปรามชาวโรฮีนจา แต่เขาลาออกไม่นานหลังจากมาเยือนครั้งนั้น โดยกล่าวว่านางซูจีขาดซึ่งความเป็นผู้นำทางศีลธรรม และเขากลัวด้วยว่า คณะกรรมการชุดนี้จะกลบเกลื่อนมูลเหตุของวิกฤติโรฮีนจา ซึ่งทำให้เมียนมาถูกสอบสวนข้อกล่าวหาว่าล้างเผ่าพันธุ์ในขณะนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดิ้นหนัก! 'โรม' ชี้ 'พรรคประชาชนพม่า' เป็นเฟกนิวส์ ลั่นรักษาผลประโยชน์คนไทยมาตลอด

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน จัดแถลง Policy Watch ในเรื่องประเทศไทยควรทำอย่างไรกับปัญหาเมียนมา