หลังศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาพิพากษาด้วยเสียงข้างมากเพิกถอนสิทธิ์คุ้มครองการทำแท้ง ทำให้เกิดเสียงคัดค้านด้วยความโกรธแค้นไปทั่วดินแดนแห่งเสรีภาพ พร้อมกลุ่มคนที่ออกมาประท้วงคำพิพากษาดังกล่าวอย่างกว้างขวางและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิทำแท้งประท้วงในรัฐโคโลราโด หลังศาลสูงสุดพิพากษาเพิกถอนสิทธิ์ทำแท้งของพลเมืองอเมริกัน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน (Photo by Jason Connolly / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2565 กล่าวว่า ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาพิพากษาด้วยเสียงข้างมากในมติ 6 ต่อ 3 เพิกถอนกฎหมายคุ้มครองการทำแท้งที่มีมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความไม่เห็นด้วย และก่อให้เกิดการออกมาเดินขบวนประท้วงคำพิพากษาดังกล่าวด้วยความไม่พอใจจากการถูกลิดรอนสิทธิในการทำแท้งของชาวอเมริกัน
มีการคาดการณ์ว่า ผู้เดินขบวนประท้วงจะหลั่งไหลไปตามท้องถนนทั่วสหรัฐอเมริกาในวันเสาร์นี้ เนื่องจากความโกรธแค้นจากคำพิพากษาดังกล่าว
ฝ่ายบริหารในแต่ละรัฐ เริ่มออกกฎหมายสั่งห้ามการทำแท้งทันที ภายหลังศาลสูงสุดพิพากษาเมื่อวันศุกร์ ซึ่งการเพิกถอนสิทธิ์คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญที่มีมายาวนานกว่าห้าทศวรรษในครั้งนี้ กลายเป็นบรรทัดฐานที่อาจสร้างผลกระทบไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งบรรดาผู้นำทั่วโลกต่างออกมาแสดงความกังวลในประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ
ศาลสูงสุดพิพากษาเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเดิมในคดีประวัติศาสตร์ ‘โร วี. เวด’ (Roe V. Wade) เมื่อปี 2516 ที่ตัดสินให้สตรีมีสิทธิ์ทำแท้งและการทำแท้งเป็นสิ่งถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ในครั้งนั้นศาลวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญสหรัฐฯต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของหญิงตั้งครรภ์ในการเลือกทำแท้งได้โดยปราศจากข้อจำกัดของรัฐบาล แต่คำพิพากษาในครั้งล่าสุดเพิกถอนการคุ้มครองดังกล่าว และกำหนดให้แต่ละรัฐสามารถจำกัดหรือห้ามกระบวนการดังกล่าวได้ด้วยตนเอง ซึ่งหมายความว่าการทำแท้งไม่ใช่สิทธิ์ของพลเมืองที่ทำได้โดยอิสระอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละรัฐกำหนด
“รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้สิทธิ์ในการทำแท้ง และอำนาจในการควบคุมการทำแท้งจะถูกส่งคืนให้กับประชาชนและผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้ง" ตุลาการศาลสูงสุดกล่าวในคำวินิจฉัยของประเด็นดังกล่าว
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านคำพิพากษานี้ และระบุว่าเป็น "ความผิดพลาดที่น่าสลดใจอันเนื่องมาจากอุดมการณ์สุดโต่ง"
“สุขภาพและชีวิตของผู้หญิงในประเทศนี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง” ไบเดนกล่าว พร้อมเตือนว่าสิทธิอื่นๆ เช่น การแต่งงานของคนเพศเดียวกันและการคุมกำเนิด อาจถูกคุกคามต่อไป
ไบเดนเรียกร้องให้สภาคองเกรสฟื้นฟูการคุ้มครองการทำแท้งให้เป็นกฎหมายของรัฐบาลกลาง และกล่าวว่าสิทธิในการทำแท้งจะเป็นประเด็นในการเลือกตั้งกลางเทอมเดือนพฤศจิกายน
การวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลสูงสุดสหรัฐฯในครั้งนี้ ก่อตัวขึ้นในประเทศต่างๆเช่นกัน รวมถึงจากพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างอังกฤษ ซึ่งนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เรียกสิ่งนั้นว่าเป็นการ "ก้าวถอยหลังครั้งใหญ่"
จัสติน ทรูโด ผู้นำของแคนาดาใช้คำว่า "เป็นเรื่องที่น่ากลัว" ด้านประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสกล่าวว่า "ขอเป็นส่วนหนึ่งร่วมกันกับบรรดาผู้หญิงที่ถูกท้าทายเสรีภาพในยุคสมัยนี้"
ชาวอเมริกันหลายร้อยคน บางคนร้องไห้ด้วยความดีใจ และบางคนเต็มไปด้วยความเศร้าโศก รวมตัวกันที่ด้านนอกศาลสูงสุดที่มีรั้วรอบขอบชิด ขณะที่คำตัดสินมีขึ้นในวันศุกร์
“เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าเราอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่เคารพผู้หญิงในฐานะมนุษย์ และสิทธิในการควบคุมร่างกายของพวกเรา” เจนนิเฟอร์ ล็อควูด-ชาบัต วัย 49 ปี หนึ่งในผู้ที่มารวมตัวประท้วงภายนอกศาล กล่าวทั้งน้ำตาด้วยความผิดหวังจากคำพิพากษาดังกล่าว
ขณะที่ เกวน ชาร์ลส วัย 21 ปี หนึ่งในผู้ต่อต้านการทำแท้ง กลับแสดงความยินดีต่อคำพิพากษาดังกล่าว “นี่คือวันที่เรารอคอย วัฒนธรรมใหม่ของชีวิตถือกำเนิดแล้วในสหรัฐอเมริกา" ” ชาร์ลส์บอกกับเอเอฟพี
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังคำพิพากษา รัฐมิสซูรีและรัฐเซาท์ดาโคตาออกกฎหมายสั่งห้ามการทำแท้งทันที โดยไม่มีข้อยกเว้นสำหรับการข่มขืนหรือการร่วมประเวณีระหว่างพี่น้อง แต่จะพิจารณาในกรณีที่ชีวิตของมารดามีความเสี่ยงเท่านั้น ขณะที่อีก 5 รัฐได้เริ่มคำสั่งห้ามการทำแท้งตามมา ได้แก่ รัฐอลาบามา, รัฐอาร์คันซอ, รัฐเคนตักกี, รัฐลุยเซียนา และรัฐโอคลาโฮมา และคาดว่าจะมีอีกหลายรัฐปฏิบัติตามคำพิพากษาในอีกไม่นาน เช่นเดียวกับการประท้วงเพิ่มขึ้นที่จะตามมา และประเด็นนี้ไม่น่าจะจบลงง่ายๆในสหรัฐอเมริกา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ พบค่ายหนังยักษ์มะกันหวังดันไทยเป็นฮับถ่ายทำภาพยนตร์
นายกฯ พบค่ายหนังยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ดันไทยเป็นฮับถ่ายทำภาพยนตร์ โชว์ซอฟพาวเวอร์ทำรายได้เข้าประเทศ
จับตา ‘อุ๊งอิ๊ง’! โชว์วิสัยทัศน์ เวทีผู้นำเอเปก
จับตา "นายกฯ อิ๊งค์" โกอินเตอร์! บินลัดฟ้าสหรัฐ ไม่ได้พบตัวแทนทำเนียบขาว แต่ไปเจอทีมไทยแลนด์ มอบนโยบายขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาคอเมริกา
นายกฯอิ๊งค์ เตรียมบินไปสหรัฐ ร่วมประชุมเอเปก
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเยือนนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และร่วมการประชุมผู้นำประเทศ
'มาริษ' ขอบคุณนานาชาติเลือกไทยนั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
'รมว.กต.' ขอบคุณ หลังไทยได้รับเลือกนั่ง HRC วาระ 2568-2570 ยืนยันจะเป็นสะพานเชื่อมความแตกต่างของชาติสมาชิก แสดงความมุ่งมั่นส่งเสริมสถานะประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนไทยให้เป็นที่ยอมรับ