ผู้ลี้ภัยโรฮีนจาหลายพันคนชุมนุมในบังกลาเทศ ร้องขอกลับบ้าน

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาหลายพันคนในบังกลาเทศชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ส่งตัวกลับเมียนมา สถานที่ซึ่งพวกเขาลี้ภัยจากมาเพราะการปราบปรามอย่างโหดร้ายของทหารเมื่อ 5 ปีก่อน

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเดินขบวนชุมนุมเรียกร้องขอกลับเมียนมา ที่ค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลอง ในเมืองค็อกซ์บาร์ซาร์ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน (Photo by Tanbir MIRAJ / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2565 กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาหลายพันคนในบังกลาเทศออกมาชุมนุมประท้วงในวันอาทิตย์ เพื่อเรียกร้องให้ส่งตัวพวกเขากลับเมียนมา หลังผจญกับความยากลำบากของการลี้ภัยในบังกลาเทศ

ชาวโรฮีนจาราว 1 ล้านคน ต้องอาศัยอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่ที่มุงด้วยผ้าใบกันน้ำ ในค่ายร้าง 34 แห่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ พวกเขาไม่มีงานทำ, ใช้ชีวิตในสภาพสุขาภิบาลที่ย่ำแย่ และแทบไม่ได้รับการศึกษา

บังกลาเทศปฏิบัติอย่างเข้มงวดกับผู้ลี้ภัยโรฮีนจามากขึ้น และสั่งห้ามเด็ดขาดไม่ให้จัดการชุมนุม เนื่องจากเคยก่อเหตุประท้วงสร้างความวุ่นวายในเดือนสิงหาคมปี 2562 แต่ครั้งนี้ทางการได้อนุญาตให้ชาวโรฮีนจาหลายกลุ่มจัดกิจกรรมเดินขบวนชุมนุมชูประเด็นร้องขอ "กลับบ้าน" เพื่อแสดงออกเนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปี

“เราไม่ต้องการอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย การเป็นผู้ลี้ภัยมันไม่ง่าย กลับบ้านกันเถอะ” ซาเอ็ด อัลลาห์ ผู้นำชุมชนชาวโรฮีนจา กล่าวระหว่างปราศรัยในการชุมนุม

ในปี 2561 องค์การสหประชาชาติสืบสวนเกี่ยวกับประเด็นการสังหารและไล่ล่าชาวมุสลิมโรฮีนจาในเมียนมา และได้ข้อสรุปว่า นายพลทหารระดับสูงของเมียนมาต้องรับผิดชอบและถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาทารุณกรรมต่อมนุษยชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

การออกมาชุมนุมในวันอาทิตย์ เกิดขึ้นหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศของบังกลาเทศและเมียนมาจัดประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศบังกลาเทศกล่าวกับเอเอฟพีว่า ในระหว่างการประชุม รัฐบาลบังกลาเทศกดดันให้เมียนมารับตัวผู้ลี้ภัยโรฮีนจากลับประเทศภายในปีนี้

เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า ผู้ลี้ภัยหลายพันคน รวมทั้งเด็กเล็กๆ เข้าร่วมการเดินขบวนชุมนุมตามถนนและตรอกซอกซอยพร้อมป้ายที่เขียนว่า "เพียงพอแล้ว! กลับบ้านกันเถอะ"

“ชาวโรฮีนจากว่า 10,000 คน เข้าร่วมการชุมนุมในค่ายผู้ลี้ภัยภายใต้การควบคุมดูแลโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษในค่ายเพื่อป้องกันความรุนแรงใดๆที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้อย่างสงบเรียบร้อย" เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าว โดยอ้างอิงสถานการณ์การชุมนุมในค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลอง ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่มีการชุมนุมในค่ายผู้ลี้ภัยอีกหลายแห่งในบังกลาเทศ

ความพยายามในการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศครั้งก่อนประสบความล้มเหลว เพราะชาวโรฮีนจาปฏิเสธที่จะกลับบ้านจนกว่าเมียนมาจะให้การรับรองสิทธิและความมั่นคงของชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งถูกมองมาตลอดว่าเป็น "ผู้อพยพผิดกฎหมาย" เพราะใช้ภาษาถิ่นเฉพาะกลุ่ม ที่คล้ายกับคนบังกลาเทศหรือชาวเบงกอลที่อยู่ตามชายแดน

ผู้นำชาวโรฮีนจากล่าวว่า พวกเขาต้องการกลับไปยังหมู่บ้านเดิมในรัฐยะไข่ของเมียนมา ไม่ใช่ค่ายที่รัฐบาลเมียนมาสร้างไว้สำหรับผู้พลัดถิ่นในประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ นำยึด 'โทลูอีน' สารตั้งต้นยาเสพติด ล็อตใหญ่ 90 ตัน

'เศรษฐา' ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบับ นำยึด 'โทลูอีน' สารตั้งต้นยาเสพติดล็อตใหญ่กว่า 90 ตัน พบต้นทางเกาหลีใต้ปลายทางเมียนมา กำชับ ตร. ดูแลสวัสดิการเจ้าหน้าที่ หลังเกิดเหตุปะทะ อ.เชียงดาว

ฮือฮา! ทุเรียนลูกละ 1 บาท แห่รับบัตรคิวแน่นตลาด

ตลาดมหาชัยไนท์ต้นสน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้จัดมหกรรมทุเรียน ระหว่างวันที่ 4 - 7 กรกฎาคม 2567 สร้างความฮือฮาให้กับผู้ที่มาจับจ่ายใช้สอยที่ตลาด

'ลุงสุทิน' ฟาด 'ก้าวไกล' ดูงานที่โปแลนด์ อยากให้ไทยรับผู้อพยพพม่า ทั้งที่บริบทสงครามต่างกันมาก

กรณีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร นำคณะกมธ.เดินทางไปดูงานแนวทางการรับมือผู้ลี้ภัยที่ประเทศโปแลนด์