องค์การอนามัยโลกเตือน ประชากรเกือบทั้งโลกกำลังหายใจอากาศเสีย

องค์การอนามัยโลกกระตุ้นเตือนให้เห็นอันตรายของมลพิษทางอากาศที่สามารถฆ่าคนทั่วโลกได้หลายล้านคนต่อปี และชี้ให้เห็นว่าการใช้พลังงานทางเลือกจะเป็นตัวช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้

แฟ้มภาพ ถ่ายเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 เผยให้เห็นหมอกควันพิษปกคลุมเมืองลียง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส แม้ว่าการปล่อยมลพิษจะลดลงเนื่องจากการมาตรการควบคุมโควิด-19 แต่ชาวยุโรปเกือบทั้งหมดต้องเผชิญกับระดับมลพิษทางอากาศที่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ในปี 2563 (Photo by PHILIPPE DESMAZES / AFP)

เอเอฟพีรายงานคำแถลงเตือนขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันจันทร์ที่ 4 เมษายน กล่าวว่า ผู้คนบนโลกกว่า 99% กำลังสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป และอ้างว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตหลายล้านคนเนื่องมาจากคุณภาพอากาศที่ไม่ดี

ข้อมูลใหม่จากหน่วยงานด้านสุขภาพของสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่าทุกมุมโลกกำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศ และสถานการณ์มักรุนแรงหนักในบรรดาประเทศยากจน

“เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกยังคงหายใจด้วยอากาศที่อันตรายเกินมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ซึ่งนั่นเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญอย่างมาก” มาเรีย เนย์รา ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อม, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพขององค์การอนามัยโลก กล่าวกับผู้สื่อข่าว

แม้ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติในปีที่แล้วระบุว่า การล็อกดาวน์จากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาและมาตรการจำกัดการเดินทาง ทำให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพอากาศขึ้นมาในช่วงระยะเวลาเหล่านั้น แต่มลพิษทางอากาศยังคงเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขให้หมดไปอยู่ดี

เนย์รากล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ผู้คนพยายามเอาชีวิตรอดจากโรคระบาดใหญ่ แต่กลับต้องมาเสียชีวิตกว่า 7 ล้านคน จากมลพิษทางอากาศ ทั้งๆที่สามารถป้องกันได้ และยังไม่รวมสุขภาพดีๆที่สูญเสียไปอีกนับไม่ถ้วน”

จากข้อมูลดาวเทียมและแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ชี้ให้เห็นว่า คุณภาพอากาศที่แย่ที่สุดพบได้ในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา

องค์การอนามัยโลกได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการควบคุมการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และหวังว่าสถานการณ์ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย น่าจะช่วยขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงไปใช้พลังงานทางเลือกที่สะอาดกว่าเพื่อผลที่ดีอย่างยั่งยืนของคุณภาพอากาศทั่วโลก

อากาศเป็นพิษตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกคืออากาศที่มีความเข้มข้นของอนุภาคอันตรายซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) รวมไปถึงสารพิษอย่างซัลเฟตและเขม่าดำจากการเผาไหม้ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพมากที่สุด เนื่องจากสามารถเจาะลึกเข้าไปในปอดหรือระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ และไนโตรเจนไดออกไซด์ซึ่งจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหอบหืด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ

"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)