สหรัฐฟันธงแล้ว เมียนมา 'ล้างเผ่าพันธุ์' โรฮีนจา

รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมประกาศอย่างเป็นทางการว่า ความรุนแรงที่กองทัพเมียนมากระทำต่อชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจาถือเป็นการ "ล้างเผ่าพันธุ์" คาดจะนำไปสู่การคว่ำบาตรและตัดความช่วยเหลือเพิ่มเติม

แฟ้มภาพ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2560 ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาจากรัฐยะไข่เดินข้ามลำน้ำตื้นๆ ในเมืองปาลองคาลี หลังจากข้ามแม่น้ำนาฟเข้าบังกลาเทศ (Photo by Munir UZ ZAMAN / AFP)

เอเอฟพีรายงานเมื่อวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565 อ้างเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลสหรัฐว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ เตรียมจะประกาศอย่างเป็นทางการว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจจะเรียกการปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจาในเมียนมาว่าเป็นการล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นทางการ ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ที่พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในกรุงวอชิงตันวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น

การปราบปรามของกองทัพเมียนมาในรัฐยะไข่ทางภาคตะวันตกของประเทศเมื่อปี 2560 ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจาไม่ต่ำกว่า 730,000 คน อพยพหนีข้ามชายแดนเข้าบังกลาเทศ พร้อมกับคำบอกเล่าเกี่ยวกับการเข่นฆ่า, ข่มขืนหมู่ และวางเพลิงชุมชนชาวโรฮีนจา ปัจจุบันมีชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่บังกลาเทศราว 850,000 คน ส่วนที่รัฐยะไข่ ยังหลงเหลือชาวโรฮีนจาอีกราว 600,000 คน ที่รายงานเผชิญการกดขี่อย่างกว้างขวาง

ชาวโรฮีนจารายหนึ่งในค่ายพักพิงสำหรับผู้ไร้ถิ่นฐานใกล้เมืองซิตตเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ กล่าวว่า เรื่องนี้ควรทำตั้งแต่ก่อนหน้านี้ แต่ตนก็เชื่อว่าการตัดสินใจของสหรัฐจะเอื้อกระบวนการพิจารณาคดีสำหรับชาวโรฮีนจาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ)

บลิงเคนเคยกล่าวไว้ระหว่างเดินทางเยือนมาเลเซียเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังพิจารณาอย่างแข็งขันว่าการปฏิบัติต่อชาวโรฮีนจาถือเป็นการล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเคยเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งเมื่อปี 2561 ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความรุนแรงต่อชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ว่า มีความรุนแรง, ขนาดใหญ่, กว้างขวาง และดูเหมือนว่ามีเป้าหมายเพื่่อสร้างความหวาดกลัวต่อประชากรชาวโรฮีนจาและขับไล่พวกเขาออกไป

นิวยอร์กไทมส์กล่าวว่า การกำหนดการล้างเผ่าพันธุ์ตามกฎหมาย ซึ่งตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ หมายถึง การกระทำที่ตั้งใจกระทำเพื่อทำลายกลุ่มชาติ, ชาติพันธุ์, เชื้อชาติ หรือศาสนา ทั้งหมดหรือบางส่วน อาจนำไปสู่ลงโทษรัฐบาลทหารเมียนมาเพิ่มขึ้น เช่น การคว่ำบาตรและการจำกัดความช่วยเหลือเพิ่มเติม

สหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรพวกผู้นำทหารเมียนมาแล้วหลายประการ สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการกระทำทารุณโหดร้ายต่อชาวโรฮีนจา และยังจำกัดด้านอาวุธเช่นเดียวกับอีกหลายชาติในโลกตะวันตก มาตั้งแต่ก่อนหน้าการก่อรัฐประหาร

การพิจารณาคดีในไอซีเจหรือศาลโลกตามคำฟ้องของรัฐบาลแกมเบียเมื่อปี 2562 เผชิญปัญหายุ่งยากสืบเนื่องจากการก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี เมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันนางซูจี ซึ่งเคยรับหน้าที่แก้ต่างให้พวกนายพลในศาลแห่งนี้ กำลังถูกกักบริเวณในบ้านพักและกำลังถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหามากมาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ตำรวจไซเบอร์' เปิดปฏิบัติการ! ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีน ตั้งฐานเชียงใหม่

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.), พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท.

คู่หยุดโลก! ศึกพม่าปะทะกัมพูชา หม่องโดนฟันหัวเจ็บสาหัส เขมรถูกรุมประชาทัณฑ์ แฉอาวุธเพียบ

เมื่อ เวลา 21.30 น วันที่ 24 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางปู จังหวัดสมุทรปราการ รับแจ้งมีเหตุทำร้ายร่างกายด้วยอาวุ

'อิ๊งค์' รับ 'ทักษิณ' คุยชนกลุ่มน้อย เพราะอยากช่วยประเทศไทย

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นักโทษที่อยู่ระหว่างการพักโทษ ได้

ไทยเป็นยูเครน 2! 'ไพศาล' ปูดทหารรับจ้างตะวันตก ช่วยชนกลุ่มน้อยรบพม่า เกาหลีเหนือ-อิหร่าน ผสมโรง

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ หวั่นไทยเป็น #ยูเครน 2 มีรายละเอียดดังนี้ พบทหารรับจ้างตะวันตกเข้าไ