รัฐบาลสหรัฐและอังกฤษประกาศระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียตอบโต้การรุกรานยูเครน "โจ ไบเดน" บอกจะไม่ปล่อยให้ยูเครนเป็นชัยชนะของ "วลาดิมีร์ ปูติน" สมาชิกคองเกรสจี้ยุโรปแบนนำเข้าพลังงานรัสเซียแล้วหันมาซื้อน้ำมันสหรัฐ อีกด้านเวเนซุเอลาปล่อย 2 อเมริกันพ้นคุก หลังทำเนียบขาวส่งตัวแทนไปเจรจาต่อรองเรื่องพลังงาน
รายงานเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 9 มีนาคม 2565 กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงที่ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคารตามเวลาสหรัฐว่า สหรัฐจะห้ามการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย โดยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปิดล้อมกว้างๆ ด้านพลังงาน ที่รวมถึงก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน
"น้ำมันรัสเซียจะไม่เป็นที่ยอมรับที่ท่าเรือของสหรัฐอีกต่อไป และชาวอเมริกันจะสร้างความเสียหายอย่างมากอีกครั้งต่อเครื่องจักรสงครามของปูติน" ผู้นำสหรัฐกล่าว โดยเสริมว่า การตัดสินใจของสหรัฐผ่านการปรึกษาหารืออย่างใกล้กับบรรดาประเทศพันธมิตรแล้ว
"ยูเครนจะไม่มีวันเป็นชัยชนะของปูติน" ไบเดนแถลง ไม่กี่นาทีคล้อยหลังรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของยุโรป ประกาศจะยกเลิกการนำเข้าน้ำมันรัสเซียภายในสิ้นปีนี้
บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ เชลล์ และบีพี ซึ่งมีสำนักงานในอังกฤษ ก็ประกาศเลิกซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียทันที โดยเชลล์รับปากว่าจะปิดสถานีบริการ รวมถึงการดำเนินการด้านสารหล่อลื่นและเชื้อเพลิงสำหรับการบินในรัสเซีย
คำสั่งห้ามน้ำมันรัสเซียได้รับการสนับสนุนจากทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครต ถึงแม้นักเศรษฐศาสตร์จะมองแตกต่างกันถึงผลกระทบจากการห้ามครั้งนี้ ในช่วงยามที่ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งเกิน 120 ดอลลาร์/บาร์เรลไปแล้ว หลังคำประกาศของไบเดน ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ปรับเพิ่มขึ้นเกิน 5%
จนถึงบัดนี้ ประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งต้องพึ่งพาพลังงานรัสเซียมากกว่าสหรัฐ ยังคงปฏิเสธการห้ามนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ชาติอียูนำเข้าก๊าซจากรัสเซียราว 40% และน้ำมัน 25% ส่วนสหรัฐนำเข้ามันจากรัสเซียคิดเป็นเพียง 8% ของน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่สหรัฐนำเข้า ซึ่งหมายความว่าผลกระทบต่อสหรัฐยังง่ายต่อการรับมือมากกว่า
ปัจจุบัน ชาวอเมริกันจ่ายเงินซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงในราคาเฉลี่ย 4.17 ดอลลาร์/แกลลอน (ราว 138 บาท/แกลลอน) เป็นราคาเพิ่มขึ้น 72 เซนต์ในเวลา 1 เดือน และเป็นราคาน้ำมันที่หัวจ่ายแพงที่สุดนับแต่ปี 2551 ที่เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
ผลสำรวจของควินิเพียกก่อนทำเนียบขาวประกาศมาตรการนี้ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามถึง 71% สนับสนุนการห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซีย ถึงแม้จะทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นก็ตาม
"ขั้นต่อไปต้องเป็นการทำให้ยุโรปทำในสิ่งเดียวกัน เพื่อแยกประเทศเหล่านี้ออกจากน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย" ส.ว.เท็ด ครูซ จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งได้เสนอร่างกฎหมาย "รื้อฟื้นความเป็นอิสระด้านพลังงานของอเมริกา" กล่าวกับซีเอ็นบีซี "และวิธีที่จะทำอย่างนั้นได้คือต้องมีแหล่งทางเลือก และแหล่งทางเลือกที่เห็นได้ชัดก็คือสหรัฐอเมริกา"
มีรายงานว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐเดินทางไปพบกับประธานาธิบดีนิโกลา มาดูโร ของเวเนซุเอลา ประเทศลาตินอเมริกาแห่งนี้เคยเป็นแหล่งป้อนน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐ แต่รัฐบาลสหรัฐคว่ำบาตรห้ามนำเข้าน้ำมันเมื่อปี 2562 หลังมาดูโรชนะเลือกตั้งในปี 2561 ที่รัฐบาลสหรัฐและอีกกว่า 50 ประเทศกล่าวหาว่าทุจริต แล้วรับรองฮวน ไกวโด ผู้นำฝ่ายค้านว่าเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐยังกล่าวหามาดูโรคดียาเสพติดและเสนอรางวัล 15 ล้านดอลลาร์สำหรับเบาะแสที่นำไปสู่การจับกุมเขา
ในคำแถลงทางโทรทัศน์เมื่อวันจันทร์ มาดูโรกล่าวว่า ผู้แทนของสหรัฐประชุมทางการทูตด้วยความเคารพและจริงใจกับเขานานเกือบ 2 ชั่วโมงที่ทำเนียบประธานาธิบดี
แม้มาดูโรจะไม่เปิดเผยหัวข้อการเจรจาระหว่างสองฝ่าย แต่เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวยืนยันว่า "ความมั่นคงทางพลังงาน" เป็นหนึ่งในประเด็นที่พูดคุยกัน
ในวันอังคาร เวเนซุเอลายังปล่อยตัวนักโทษชาวอเมริกัน 2 คนที่ถูกจำคุกในสหรัฐ โดยรายหนึ่งคือกุสตาโว การ์เดนัส อดีตผู้บริหารของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ซิตโก ที่เป็นหนึ่งในอดีตผู้บริหารกลุ่ม "ซิตโก 6" ที่โดนจับกุมเมื่อปี 2560 และถูกตัดสินจำคุกคดีคอร์รัปชันในเวเนซุเอลา กลุ่มนี้เป็นพลเรือนอเมริกันเกิดในเวเนซุเอลา 5 คน อีก 1 คนเป็นผู้มีถิ่นพำนักถาวรในสหรัฐ บุคคล 5 คนที่เหลือยังถูกคุมขังต่อไป
รัฐบาลสหรัฐพยายามเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขา เน็ต ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เคยกล่าวเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่า ผู้บริหารทั้ง 6 คนนี้ถูกคุมขังไว้เป็น "เบี้ยทางการเมือง"
ประธานาธิบดีไบเดนยืนยันเมื่อวันอังคารว่า การ์เดนัสได้รับการปล่อยตัวแล้ว พร้อมกับจอร์จ อัลเบอร์โต เฟอร์นันเดซ ชาวอเมริกันอีกคนที่ถูกจับกุมพร้อมกับโดรน 1 ลำใกล้ชายแดนโคลอมเบียเมื่อปี 2564 ด้วยข้อหาก่อการร้าย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อุ๊งอิ๊ง' พบชุมชนไทยในแอลเอ เผยมีโอกาสจะชวน 'คุณพ่อ' มาเที่ยว
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. เวลา 14.00 น. (ตามเวลานครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 15 ชั่วโมง) น.ส.แพทองธาร ชิ
เอาแน่ 'คมนาคม' เร่งศึกษาค่าธรรมเนียมรถติด
“คมนาคม” เดินเครื่องศึกษามาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เปิดโมเดล 4 ประเทศ “อังกฤษ-สิงคโปร์-สวีเดน-อิตาลี” พบช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างเป็นรูปธรรม ด้าน สนข. เร่งศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ชี้ช่วยดึงดูดประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เชื่อมระบบฟีดเดอร์-ขนส่งหลัก หนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย