สงครามยูเครนวันที่ 202 : สถานการณ์แนวรบพลิกผัน!

สงครามยูเครนลากยาวมาถึงวันที่ 202 เกิดอาการพลิกผันในแนวรบด้านตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก...รวมถึงภาคใต้ที่ส่อไปในทางที่จะเห็นการสู้รบยืดเยื้อข้ามปี

ข่าวหลายกระแสบอกตรงกันว่า ทหารยูเครนตีโต้และรุกกลับอย่างได้ผลในฝั่งตะวันออก หลังรัสเซียสั่งถอนทัพในคาร์คิฟ

ขณะที่ยูเครนอ้างเป็น “ชัยชนะ” ในสนามรบครั้งแรกในรอบหลายเดือน ฝั่งรัสเซียบอกว่าการสั่งทหารให้ล่าถอยครั้งนี้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

คือการ “ถอยตั้งหลัก” เพื่อเปิดฉากการโจมตีรอบใหม่

ข่าวทางการของยูเครนและสื่อตะวันตกอ้างว่า กองทัพยูเครนได้ยกระดับการรุกโต้กลับอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ทางตะวันออกของยูเครนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่กองทัพรัสเซียถอนทหารออกจากเขตปกครองคาร์คิฟทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเชื่อมต่อกับเขตดอนบัสทางตะวันออกทางด้านยุทธศาสตร์การสู้รบ

นักวิเคราะห์ด้านสงครามบางสำนักบอกว่า ความเคลื่อนไหวใหม่ล่าสุดของทั้ง 2 ฝ่ายอาจจะเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งเมื่อสงครามเข้าสู่เดือนที่ 7 หลังรัสเซียส่งทหารเข้ามายึดยูเครน

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ออกทีวีประกาศอย่างร้อนแรงเมื่อค่ำวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า

 “กองทัพรัสเซียได้แสดงให้เห็นสิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเขาทำได้ – นั่นคือ การถอยทัพกลับไปให้เห็นแต่เพียงหลังของพวกคุณ” หลังจากรัสเซียประกาศถอนกำลังออกจากเขตปกครองคาร์คิฟในวันเดียวกันนี้

วันต่อมาผู้นำยูเครนคนนี้ก็โพสต์คลิปวิดีโอของทหารยูเครนชักธงชาติยูเครนขึ้นสู่ยอดเสาในเมืองชกาลอฟสก์ (Chkalovsk) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ยูเครนอ้างว่าสามารถยึดคืนกลับจากรัสเซียในการรุกโต้กลับ

สื่อตะวันตกใช้คำว่า counter-offensive สำหรับการตีโต้กลับครั้งนี้เพื่อตอกย้ำว่าทหารยูเครนกำลังปรับโหมดการสู้รบจากที่เคย “ตั้งรับ” (defensive) มาเป็น “เชิงรุก” (offensive)

แต่เดิมรัสเซียเป็นฝ่ายรุก วันนี้ยูเครนบอกว่ากองทัพยูเครนเองกำลังตอบโต้การรุกด้วยการตีกลับ หรือ counter-offensive

พลเอกวาเลรี ซาลุชนี ผู้บัญชาการทหารบกยูเครน อ้างว่าทหารยูเครนสามารถยึดคืนพื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางกิโลเมตร จากทหารรัสเซียตลอดเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา

คลิปวิดีโอของฝ่ายยูเครนอ้างว่า ทหารบางส่วนของตนได้รุกกลับถึงจุดที่ประชิดติดชายแดนรัสเซีย ห่างไปเพียง 50 กิโลเมตรจากพรมแดนรัสเซียด้วยซ้ำไป

ยูเครนอ้างว่ารัสเซียกำลังเพลี่ยงพล้ำครั้งสำคัญ หลังจากที่ตอนเริ่มสงครามใหม่ๆ นั้นมอสโกก็พลาดเป้าของการยึดกรุงเคียฟเมืองหลวงตั้งแต่สัปดาห์แรก

อีกทั้งที่ทหารรัสเซียเคยวางแผนเข้ายึดเขตปกครองคาร์คิฟทางตะวันออกเฉียงเหนือในการสู้รบระยะต้นก็พลาดเป้าไปเช่นกัน

ด้านกระทรวงกลาโหมรัสเซียออกข่าวไปในทำนองว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนเดิม รัสเซียไม่ได้พลาดท่าเสียทีทหารยูเครนอย่างที่กล่าวอ้างกันแต่ประการใด

แถลงการณ์จากมอสโกบอกว่า การถอนทหารบางส่วนจากเมืองอิสยุม (Izyum) และพื้นที่อื่นๆ ในเขตปกครองคาร์คิฟนั้นเป็นยุทธการทางทหารเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับหน่วยรบรัสเซียในเขตปกครองโดแนตสก์ทางตะวันออกเท่านั้น

ประเทศตะวันตกที่กำลังตีความความเคลื่อนไหวล่าสุดในสมรภูมิยูเครนว่าเป็นจุด “พลิกผันสำคัญ” ของการสู้รบ

ฝ่ายข่าวกรองของกระทรวงกลาโหมอังกฤษตอกย้ำว่า รัสเซียมีแนวโน้มที่จะถอนทหารจากพื้นที่ก็จริง แต่การสู้รบยังร้อนแรงต่อเนื่องในเมืองสำคัญใกล้เคียง เช่น คูเปียนสก์ (Kupiansk) และอิสยุม

นักวิเคราะห์ทางทหารตะวันตกมองว่า ถ้าทหารยูเครนรุกคืบโต้กลับได้อย่างต่อเนื่องจริงๆ ก็จะทำให้ยูเครนเข้ายึดครองการขนส่งระบบรางสายสำคัญ

เป็นเส้นทางที่รัสเซียเคยใช้ในการส่งเสบียงให้กับกองทัพรัสเซียทางตะวันออกของยูเครนได้

ประธานาธิบดีเซเลนสกีออกแถลงการณ์เผ็ดร้อนเป็นลายลักษณ์อักษรที่มุ่งไปที่รัฐบาลรัสเซีย

"พวกคุณยังจะทึกทักไปเองว่าเราเป็นประเทศเดียวกันอยู่อีกไหม? พวกคุณคิดว่าจะทำให้เรากลัว, จะบดขยี้เราให้แหลก, จะบีบคั้นให้เรายอมพวกแกได้อีกไหม?

“พวกคุณยังไม่เข้าใจอีกหรือว่าเราเป็นใคร? เรายืนหยัดเพื่ออะไร? ประชาชนของเราปรารถนาอะไร?

“อ่านริมฝีปากผมให้ดีนะ : จะตัดก๊าซให้ไม่มีใช้หรือไม่มีพวกคุณ? ไม่มีพวกคุณ จะทำลายโรงไฟฟ้าให้ไม่มีไฟใช้หรือไม่มีพวกคุณ? ไม่มีพวกคุณ จะต้องอดอยากหรือไม่มีพวกคุณ? ไม่มีพวกคุณ

“ความหนาวเหน็บ, หิวโหย ความมืดและความกระหายไม่น่ากลัวและถึงตายเท่ากับมิตรภาพจอมปลอมและความเป็นบ้านพี่เมืองน้องที่พวกคุณกล่าวอ้าง. สุดท้ายความยุติธรรมทางประวัติศาสตร์จะต้องเกิด. แล้วเราจะมีแก๊ส, ไฟฟ้า, น้ำและอาหาร...โดยไม่มีพวกคุณ!"

ความหมายของเซเลนสกีคือ ไม่ว่ายูเครนจะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากเพียงใดก็จะเลือกที่จะอยู่กับความยากเข็ญเหล่านั้นมากกว่าที่จะยอมให้รัสเซียมายึดครอง

อีกด้านหนึ่งของสงครามคือความสุ่มเสี่ยงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ยังไม่มีข้อตกลงว่าจะมีการหยุดยิงบริเวณนั้นหรือไม่อย่างไร

บริษัท อีเนอร์โกอะตอม (Energoatom) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานนิวเคลียร์ของยูเครนออกแถลงการณ์ ว่าด้วยสถานการณ์ที่น่ากังวลที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริชเชีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดทั้งในยูเครนและในยุโรป ตั้งอยู่ที่เมืองซาโปริชเชีย ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย ริมแม่น้ำไนเปอร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

แถลงการณ์นั้นแจ้งว่ามีความจำเป็นต้องปิดทำการเตาปฏิกรณ์ตัวสุดท้าย ซึ่งเป็นตัวที่ 6 ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เพราะกลัวว่าอาจมีการรั่วไหลของกัมมันตรังสี

ระบบการทำงานของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ต้องเจอกับเหตุขัดข้องมากมายหลายประการ ตั้งแต่ทหารรัสเซียเข้ามายึดและเปิดศึกกับทหารยูเครนที่ปักหลักอยู่อีกข้างหนึ่งของแม่น้ำ

และเพื่อป้องกันอันตรายอันไม่พึงประสงค์ ก็ทำให้ต้องลดการทำงานของระบบลง ส่งผลให้ไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าภายนอกที่เหลืออยู่เพียงเส้นเดียว

โดยหันไปพึ่งระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าสำรองที่ยังคงทำหน้าที่ได้ตามปกติ

สหประชาชาติเสนอผ่าน IAEA ซึ่งเป็นหน่วยงานพลังงานปรมาณูของยูเอ็น และรัฐบาลยูเครนเรียกร้องการกำหนดให้พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าซาโปริชเชียเป็นเขตปลอดทหาร แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปกับฝ่ายรัสเซียได้

ความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติก็ยังหลอนคนทั้งโลกถึงวันนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน

ปูติน-คิม: ยิ่งโลกยุ่ง สองสหายยิ่งแน่นแฟ้น

ยิ่งนับวันเกาหลีเหนือก็ยิ่งขยับใกล้รัสเซียมากขึ้น...หลักฐานอาวุธจากเปียงยางไปปรากฏในสมรภูมิยูเครนตอกย้ำว่า “คิม จองอึน” กับ “วลาดิมีร์ ปูติน” กำลังสานสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นทุกวัน

เมื่อบริษัทมะกันถอนตัวจาก แหล่งก๊าซ‘ยาดานา’พม่า

ผลข้างเคียงจากสงครามกลางเมืองพม่าต่อไทยคือการบริหารแหล่งก๊าซยาดานา (Yadana) ที่ผู้ถือหุ้นสหรัฐฯ คือเชฟรอน เพิ่งประกาศถอนหุ้นออกไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา