เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล อำเภอปะทิว จ.ชุมพร จัดประชุมเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ปกป้องสิทธิชุมชนท้องถิ่น
สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีประชาธิปไตยของชาวบ้านจากชุมชนฐานราก ถือกำเนิดมาจาก ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ที่ภาคประชาชนช่วยกันผลักดัน เพื่อให้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนท้องถิ่นของตัวเอง รวมทั้งยกระดับไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย เช่น การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ระบบเศรษฐกิจเกื้อกูล การจัดการภัยพิบัติและโรคระบาดโดยชุมชน ฯลฯ
ปัจจุบันมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว 7,795 แห่งทั่วประเทศ และกำลังก้าวย่างจากปริมาณไปสู่คุณภาพ โดยมีประเด็นขับเคลื่อนงานในภาพรวม คือ ‘สภาองค์กรชุมชนเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา สร้างการกระจายอำนาจ สู่ความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น ภายใต้วิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่น’
เส้นทางสู่ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน
พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ถือเป็น พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอและผลักดันให้ออกมาเป็นกฏหมาย โดยก่อนหน้านั้นมีกลุ่มและองค์กรที่ประชาชนจัดตั้งขึ้นทั่วประเทศ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ สัจจะสะสมทรัพย์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มแก้ไขปัญหาที่ดิน-ป่าไม้ กลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ กลุ่มฌาปนกิจ กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ กลุ่มต่างๆ เหล่านี้กระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 1 แสนกลุ่ม
สุวัฒน์ คงแป้น นายกสมาคมสภาองค์กรชุมชนพัทลุง ซึ่งมีส่วนร่วมในการผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขยายความว่า กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ต่างทำงานไปตามเป้าหมายของตัวเอง หรือตามเป้าหมายขององค์กรที่สนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ได้มีการเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดพลัง หรือแม้แต่กลุ่มต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นภายในหมู่บ้านหรือตำบลบางแห่งก็ไม่ได้มีการเชื่อมโยงเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนกัน เรียกว่าต่างกลุ่มต่างทำ ไม่ได้มองเห็นปัญหาหรือแนวทางการพัฒนาร่วมกันทั้งตำบล
“หรือหากจะมีแผนพัฒนาก็เป็นแผนงานที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม เป็นแผนงานที่มาจากข้างนอก หากชาวบ้านจะนำแผนของตนเองไปเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานก็มักจะมองว่า กลุ่มองค์กรของชาวบ้านเป็นกลุ่มเถื่อน เพราะไม่ได้มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง หรือไม่มีกฎหมายรองรับ” สุวัฒน์บอกถึงอุปสรรคของภาคประชาชนก่อนจะมี พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชนฯ
ในปี 2549 หลังการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะนายทหาร พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีกระแสการปฏิรูประเทศไทย แกนนำองค์กรชุมชนทั่วประเทศที่ทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้จัดประชุมเพื่อทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ที่ประชุมได้ข้อเสนอจำนวน 8 เรื่อง และ 1 ในนั้นก็คือ ข้อเสนอเรื่อง “การยกระดับให้การทำงานขององค์กรชุมชนเป็นอิสระ” เพื่อทำให้เกิดสิทธิชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาจากปัญหาและความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แผนพัฒนาที่มาจากข้างนอก หรือจากบนลงล่างเหมือนในอดีต
จากข้อเสนอดังกล่าว แกนนำองค์กรชุมชนทั่วประเทศ เช่น ครูสน รูปสูง (ปัจจุบันเสียชีวิต) ผู้นำจากตำบลท่านางแนว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น จินดา บุญจันทร์ ผู้นำจาก อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘สมัชชาสภาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย’ หรือ ‘สอท.’ ขึ้นมา
เพื่อเป็นองค์กรขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายความเป็นอิสระขององค์กรชุมชน โดยแนวทางที่เห็นร่วมกันคือ “องค์กรชุมชนจะต้องมีกฎหมายที่สนับสนุน ส่งเสริม หรือมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนพัฒนาของตัวเอง เป็นแผนพัฒนาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐจะต้องนำไปประกอบการจัดทำแผนพัฒนาในทุกระดับ”
ในปี 2550 แกนนำ สอท.ได้ร่วมกันร่าง ‘พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.........’ ขึ้นมา และนำเสนอต่อรัฐบาลผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในขณะนั้น
แม้ว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายรัฐบาล แต่ก็มีแรงต่อต้านไม่น้อย โดยเฉพาะในซีกของกระทรวงที่เกี่ยวข้องและกลไกอำนาจรัฐในท้องถิ่น เพราะกลัวว่าจะไปทับซ้อนและลดทอนอำนาจของตนที่มีอยู่เดิม
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการลดแรงเสียดทานจึงมีการปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และนำเสนอผ่านทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน สนช. และมีสมาชิก สนช.หลายคนร่วมให้การสนับสนุนและผลักดัน เช่น บวรศักดิ์ อุวรรณโน วัลลภ ตังคณานุรักษ์ มุกดา อินต๊ะสาร ฯลฯ
ทำให้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมีเหตุผลระบุในตอนท้ายของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า...
“ด้วยชุมชนเป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม แตกต่างหลากหลายตามภูมินิเวศ การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอประสบปัญหาความยากจน เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนถูกทำลายจนเสื่อมโทรม เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ การสร้างระบอบประชาธิปไตย...
จึงเห็นสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
บทบาทสภาฯ สร้างประชาธิปไตยจากฐานราก
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 กำหนดให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
โดยหลังจากที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้แล้ว พอช. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สนับสนุนให้ประชาชนในชุมชน ตำบล เทศบาล (ในกรุงเทพฯเป็นเขต) รวมกลุ่มและองค์กรชุมชนในท้องถิ่นของตนจดแจ้งจัดตั้ง ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ ขึ้นมา (ดูรายละเอียดการจัดตั้งและ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนที่ http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/% CA77/%CA77-20-2551-a0001.htm)
สุวัฒน์ คงแป้น บอกถึงการใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลจะต้องจัดให้มีการประชุมอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง เพื่อนำปัญหาหรือแนวทางการพัฒนาในตำบลมาประชุมร่วมกัน เพื่อปรึกษาหารือ เสนอความเห็น หรือหาทางแก้ไข และต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดจึงนับเป็นองค์ประชุม การลงมติใช้เสียงข้างมาก สมาชิกหนึ่งคนมีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน
“เรื่องใดที่สามารถดำเนินการได้เอง สภาองค์กรชุมชนฯ และสมาชิกก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ สภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถนำไปเสนอแนะการแก้ไขปัญหาและแนวทางการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้”
นอกจากนี้ยังมีการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับจังหวัดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถเสนอแนวทางการพัฒนาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด
รวมทั้งเสนอแนะต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชน ในเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
“จะเห็นได้ว่า สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีหรือเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นด้วยตัวเอง โดยยึดหลักการประชาธิปไตยจากฐานรากที่แท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิ์ออกไปหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเพียงอย่างเดียว” สุวัฒน์บอก
เขาย้ำว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบลฯ คือการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรชุมชนในตำบลเกิดความเข้มแข็ง สมาชิกองค์กรชุมชนและประชาชนในตำบลสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีในการประชุมเพื่อปรึกษาหารือ วางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหา รวมทั้งส่งเสริมและปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่น
รูปธรรมจากบ้านดง จ.ขอนแก่น ปกป้องสิทธิชุมชน
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ (มาตรา 21) กำหนดให้สภาฯ มีภารกิจต่างๆ เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของชุมชนและของชาติ
ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบํารุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
“จัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็นต่อการดําเนินโครงการหรือกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ดําเนินการหรือเป็นผู้อนุญาตให้ภาคเอกชนดําเนินการต้องนําความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย” (พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 21 (6))
ดังตัวอย่างของ สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่ใช้เวทีสภาฯ ขับเคลื่อนและต่อสู้จนสามารถทวงคืนผืนป่าสาธารณะห้วยเม็กจากบริษัทเครื่องดื่มผสมเคเฟอีนชื่อดังที่งุบงิบทำเรื่องขอเช่าที่ดินสาธารณะโดยไม่ถูกต้อง จนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา
โรงงานเอกชนเตรียมผลิตเครื่องดื่มที่ตำบลบ้านดง (ภาพจาก thaipbs)
ย้อนกลับไปในปี 2558 บริษัทเครื่องดื่มชูกำลังรายใหญ่ในประเทศไทยได้สร้างโรงงานเพื่อเตรียมผลิตเครื่องดื่มชูกำลังที่ตำบลบ้านดงเพื่อส่งไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ และเตรียมการเช่าที่ดินสาธารณะป่าห้วยเม็กในตำบลบ้านดง เนื้อที่ 31 ไร่เศษเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการผลิตเครื่องดื่ม
ในปี 2559 เมื่อชาวบ้านในตำบลรู้ข่าวว่ามีบริษัทเอกชนเช่าที่ดินสาธารณะป่าห้วยเม็กที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันแบบสมรู้ร่วมคิดกับองค์กรปกครองในท้องถิ่นโดยที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้มีการจัดประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน แต่หน่วยงานในท้องถิ่นนำเอกสารมาให้ชาวบ้านลงชื่อเพื่อแอบอ้างว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับการทำประชาคมให้เช่าที่ดินสาธารณะแล้ว
ชาวบ้านจึงเริ่มรวมตัวปรึกษาหารือกัน เริ่มด้วยการจัดตั้ง ‘กลุ่มคุ้มครองสิทธิชุมชน’ ขึ้นมา มีชาวบ้านในตำบลประมาณ 28 คนเข้าร่วม ต่อมาจึงได้ใช้ ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านดง’ ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาในปีนั้นเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวต่อสู้ รวมคน รวมพลัง เพราะมีกฎหมายรองรับ คือ ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ โดยยื่นหนังสือในนามสภาองค์กรชุมชนฯ ร้องเรียนไปตามลำดับขั้น ตั้งแต่อำเภอ จังหวัด เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง
สภาพป่าห้วยเม็กที่บริษัทเอกชนเช่าเพื่อขุดเป็นแหล่งน้ำป้อนโรงงาน (ภาพจาก https://mgronline.com/)
ใช้สภาฯ ทวงคืนผืนป่าสาธารณะ
ในปี 2560 การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิชุมชนของชาวบ้านในนามสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านดงยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลในอำเภอต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่นร่วมกันสนับสนุน มีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับจังหวัด (ขอนแก่น) ขณะที่สื่อมวลชนจากท้องถิ่นและส่วนกลางให้ความสนใจจึงช่วยกันตีแผ่ข้อเท็จจริง
ในเดือนมิถุนายนปีนั้น สภาองค์กรชุมชนฯ ทำหนังสือคัดค้านการเช่าที่ดินที่ไม่ถูกต้องยื่นถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงที่นายกฯ เดินทางมาราชการที่จังหวัดขอนแก่น ชณะที่พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รับลูกสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริง จนได้ข้อมูลประจักษ์ว่าบริษัทเอกชนเช่าที่ดินสาธารณะห้วยเม็กไม่ถูกต้อง เช่น มีการทำเอกสารแอบอ้างว่ามีการทำประชาคมรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านแล้ว
ในที่สุดเมื่อถูกกระแสกดดันรอบด้าน ในเดือนกันยายน 2560 บริษัทเครื่องดื่มชูกำลังออกแถลงการณ์พร้อมยกเลิกการเช่าที่ดินสาธารณะป่าห้วยเม็ก พร้อมทั้งปรับสภาพพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายไปบ้างแล้วให้คงสภาพเดิม
ต่อมาในวันที่ 28 กันยายน ชาวบ้าน นักเรียน ภาคีเครือข่าย หน่วยงานราชการร่วมกันปลูกต้นไม้ในป่าห้วยเม็กเพิ่มเติมจำนวน 5,000 ต้น
ถือเป็นการปกป้องสิทธิชุมชน โดยพลังของชุมชนท้องถิ่น โดยใช้ ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือ’ ขับเคลื่อน...สอดคล้องกับภารกิจตามมาตรา 21 (6) ของ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่า...
“จัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็นต่อการดําเนินโครงการหรือกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ...”
สภาพป่าห้วยเม็กหลังถูกทำลาย มีการปรับหน้าดินเพื่อปลูกต้นไม้
เสียงจากคนคลองเตย-ปะทิว จ.ชุมพร
นอกจากตัวอย่างที่ตำบลบ้านดง จ.ขอนแก่น ยังมีชุมชนอีกหลายพื้นที่ หลายแห่งทั่วประเทศ ที่ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิชุมชนตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ เช่น สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย กรุงเทพฯ และสภาองค์กรชุมชนตำบล อำเภอปะทิว จ.ชุมพร
ประไพ สานุสันต์ ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย บอกว่า สภาฯ จดทะเบียนจัดตั้งในปี 2552 มีสมาชิกสภาฯ จำนวน 56 คน มีองค์กรสมาชิก 49 องค์กร จำนวน 17 ชุมชน แบ่งการทำงานออกเป็น 8 ประเด็นงาน เช่น ที่อยู่อาศัย แผนชุมชน เศรษฐกิจและอาชีพ สิ่งแวดล้อม ผู้สูงอายุ สวัสดิการ ศิลปะ วัฒนธรรม ฯลฯ
ในช่วงปี 2561-2562 รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือคลองเตยให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนแม่บท (master plan) การพัฒนาที่ดินท่าเรือกรุงเทพ เนื้อที่ 2,353 ไร่ เช่น พัฒนาเป็นโรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์ธุรกิจและการค้า การส่งออก ฯลฯ มูลค่าโครงการหลายหมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกันจะต้องรื้อย้ายชุมชนคลองเตยที่อยู่อาศัยในที่ดินการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อนำที่ดินมาพัฒนา ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อชาวคลองเตยกว่า 27 ชุมชน ประมาณ 13,000 ครอบครัว หรือเกือบ 100,000 คน โดยการท่าเรือมีโครงการ Smart Community เพื่อรองรับชาวชุมชนคลองเตยที่อยู่อาศัยที่จะต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิม
โดยการท่าเรือมีข้อเสนอ 3 แนวทางให้ชาวชุมชนเลือก คือ 1.รื้อย้ายแล้วเข้าอยู่ในอาคารสูงที่การท่าเรือจะสร้างให้ 2.ย้ายไปสร้างชุมชนใหม่ที่บริเวณหนองจอก และ3.รับเงินชดเชยแล้วย้ายออกจากพื้นที่ โดยการท่าเรือเปิดตัวโครงการนี้ไปเมื่อต้นปี 2562 แต่ชาวชุมชนคลองเตยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลและรายละเอียดของโครงการ
ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงในการประชุมสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตยเมื่อเดือน ก.พ.2562
ประไพบอกว่า จากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตยจึงเข้ามามีบทบาทในการจัดประชุมเพื่อให้การท่าเรือได้ชี้แจงข้อมูลกับตัวแทนชาวบ้าน และรับฟังเสียงจากชุมชน โดยมีการจัดเวทีไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่วัดสะพาน เขตคลองเตย มีตัวแทนชาวบ้าน การท่าเรือ นักวิชาการ ฯลฯ เข้าร่วมประมาณ 250 คน
“สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตยมีข้อเสนอให้การท่าเรือเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการสำรวจข้อมูล เสนอความต้องการของชาวบ้าน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความเป็นอยู่ วิถีชีวิต อาชีพ รายได้ของชาวชุมชนอย่างแท้จริง”
ประไพบอกถึงข้อเสนอของสภาองค์กรชุมชนฯ และย้ำว่า ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านการพัฒนาที่ดินของการท่าเรือ แต่อยากให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาครั้งนี้ เพราะเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องใหญ่ของประชาชนคนยากจน เช่น ขนาดของห้องพักที่เหมาะสมกับครอบครัว เพราะคนคลองเตยอยู่แบบครอบครัวใหญ่ หรือการขอแบ่งปันที่ดินเพื่อให้ชุมชนนำมาบริหารจัดการเอง ฯลฯ
อย่างไรก็ดี โครงการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตยจนถึงขณะนี้ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนงาน และยังไม่ได้เริ่มต้นโครงการ แต่สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตยก็เตรียมพร้อมที่จะขับเคลื่อนต่อไปเพื่อให้การท่าเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังเสียงจากประชาชน
ผู้แทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนอำเภอปะทิวประชุมและแถลงการณ์เมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
สมโชค พันธุรัตน์ ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร บอกว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลอำเภอปะทิว ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านและผู้นำชุมชนต่างๆ โดยมีนายอำเภอปะทิว ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 4 ตำบล คือ ตำบลชุมโค ปากคลอง บางสน และสะพลี ประมาณ 100 คนเข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็น
การจัดประชุมดังกล่าว เนื่องจากมีร่างประกาศจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ‘เรื่องการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายทะเล 4 ตำบลในอำเภอปะทิว’ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศฉบับนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา
เช่น กำหนดพื้นที่ห้ามทำการประมงโดยใช้เครื่องมือต่างๆ ห้ามก่อสร้างอาคารทุกชนิดในพื้นที่ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ 20 เมตร ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านทั้ง 4 ตำบลกลัวว่าจะเกิดผลกระทบต่อการทำมาหากินและการอยู่อาศัย รวมทั้งเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพประมงชายฝั่ง และทำเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วย
“ในประกาศฉบับนี้ มีการอ้างว่าเนื่องจากพื้นที่ชายทะเล 4 ตำบลมีแนวโน้มจะเสื่อมโทรมมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการคุ้มครองออกมา ซึ่งขัดต่อความเป็นความจริง เพราะสภาพทะเลและชายฝั่งและสัตว์น้ำยังอุดมสมบูณ์ โดยชาวบ้านและชาวประมงชายฝั่งมีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์เพื่อดูแลมาตลอด เช่น ไม่ทำประมงผิดกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นการทำลายหม้อข้าวของตัวเอง นอกจากนี้ประกาศฉบับนี้ยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย” ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนฯ บอก
ทั้งนี้สภาองค์กรชุมชนอำเภอปะทิว ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านประกาศฉบับนี้ โดยระบุว่า 1.เป็นประกาศที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ 2.เป็นประกาศที่ทับซ้อนกับกฎหมายที่บังคับใช้ในพื้นที่ 3.เป็นประกาศที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตต่อการประกอบอาชีพ และการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน และจากนี้เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนอำเภอปะทิวจะติดตามเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด
เขาบอกด้วยว่า ในนามเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลอำเภอปะทิว จะทำหนังสือยื่นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและศูนย์ดำรงธรรม รวมทั้งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อคัดค้านประกาศดังกล่าว โดยจะใช้สภาองค์กรชุมชนขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปเพราะเป็นสิทธิตามที่ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 กำหนดเอาไว้ รวมทั้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วย !!
ปากคลองบางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร เชื่อมกับอ่าวไทย แหล่งประมงพื้นบ้าน ใช้สภาองค์กรชุมชนปกป้องสิทธิชุมชน
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา