ลุ้นเคาะปิดคดีบิ๊กตู่ ‘วิษณุ’ชี้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกได้ทุกทาง

จับตา "ศาล รธน." ถกวาระ 8 ปี "บิ๊กตู่" 14 ก.ย.นี้ ชี้หากคดีสิ้นข้อสงสัย นัดวันลงมติได้ทันที "วิษณุ" ระบุคำวินิจฉัยออกได้ทุกทาง "วัชระ" บุกยื่นสำเนาบันทึกประชุม กรธ.ครั้งที่ 500-501 อ้างให้ศาลฯ เทียบเคียงฉบับของเลขาฯสภา "พท." ซัด "วิษณุ-เหล่าองค์รักษ์พิทักษ์ประยุทธ์" ตะแบงหลัก กม. แถมชี้นำศาล จี้นายกฯ ลาออกไม่ต้องรอคำตัดสิน

เมื่อวันที่ 13 ก.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 14 ก.ย. เวลา 10.00 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีกำหนดนัดประชุมประจำสัปดาห์ โดยมีวาระที่น่าสนใจและเป็นประเด็นที่สังคมจับตาเป็นพิเศษคือ คำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เข้าชื่อยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าสิ้นสุดลงของตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาจาก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ถูกร้อง รวมทั้งเอกสารความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขาฯ กรธ. และสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 ครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ที่ประชุมจะหารือเพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาคดีว่าควรอย่างไร โดยจะพิจารณาจากเอกสาร พยานหลักฐานต่างๆ ว่าสิ้นข้อสงสัยแล้วหรือไม่ หากพิจารณาแล้วยังมีไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ทางศาลจะมีคำสั่งให้แสวงหาพยานเพิ่มเติมหรือให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม รวมทั้งหากพิจารณาแล้วเห็นว่าหลักฐานจากเอกสารมีน้ำหนักไม่เพียงพอเพื่อให้เกิดความชัดเจนอาจกำหนดให้มีการออกนั่งบัลลังก์ เรียกฝ่ายผู้ร้อง ผู้ถูกร้องหรือพยานที่ศาลเห็นสมควรมาไต่สวนเพิ่มเติมได้

"หากพิจารณาจากเอกสาร พยานหลักฐานที่ได้รับมาแล้วครบถ้วน สิ้นข้อสงสัย ทางคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะกำหนดวันนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ และนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังได้" แหล่งข่าวระบุ

สำหรับมาตรการการรักษาความปลอดภัยโดยรอบสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เบื้องต้นสำนักงานคงมาตรการรักษาความปลอดภัยตามปกติ คือไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณพื้นที่หวงห้ามเหมือนเช่นทุกครั้งที่มีการพิจารณาคดีและอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนสื่อมวลชนหากเข้าพื้นที่ต้องแลกบัตรที่แสดงหลักฐานการเป็นสื่อมวลชนต่อเจ้าหน้าที่ทุกครั้งด้วย

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นครั้งที่ 3 โดยก่อนการประชุม พล.อ.ประวิตรได้หารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ห้องสีเหลือง ตึกสันติไมตรี ประมาณ 10 นาที ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม ยังคงประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากกระทรวงกลาโหมเช่นเดิม

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยปม 8 ปีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ในความเห็นส่วนตัวคิดรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ควรตีความอย่างไรว่า ขอให้รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 264 เพราะยิ่งใกล้ตัดสินแล้วต้องรอคำสั่งศาล เพราะพูดอะไรตอนนี้มันก็ไม่เหมาะสมแล้ว

ถามว่า ศาลรัฐธรรนูญจะต้องวินิจฉัยกำหนดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าต้องเริ่มนับตั้งแต่ปีใดหรือไม่ หรือศาลจะบอกแค่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ผ่านหรือไม่ผ่านปม 8 ปี หลังพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้องให้ตัดสินเริ่มนับตั้งแต่ปี 2557 เท่านั้น   นายวิษณุกล่าวว่า อันนี้เราไม่ทราบ เป็นไปได้ทุกทาง อย่าไปเดา

ซักว่า ศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยผลออกมาได้หมดทุกด้านเลยใช่หรือไม่นายวิษณุกล่าวว่า ศาลอาจจะบอกว่าพ้นหรือไม่พ้น หรืออาจจะบอกว่าไม่พ้นเพราะต้องเริ่มนับอย่างนู้นก็แล้วแต่ อันนี้ตนไม่ทราบและตอบไม่ได้

นายวิษณุกล่าวว่า ในการประชุม ครม.ก็ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในวันที่ 14 ก.ย.ศาลนัดประชุมนั้นจะเป็นเช่นไร ไม่มีใครสามารถรู้ได้ ตอบไม่ถูก เพราะเคยมีมาทุกรูปแบบในอดีต

อย่างไรก็ดี นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ นำสำเนาบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 และครั้งที่ 501 ที่ก่อนหน้านี้ศาลมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งมายังศาลภายในวันที่ 13 ก.ย. เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาเรื่องวาระ 8 ปี มาส่งให้กับศาลรัฐธรรมนูญ

นายวัชระกล่าวว่า ตนมาในฐานะประชาชนไม่ใช่สมาชิกพรรค นำบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 และ 501 ซึ่งส่วนนี้มี 12 หน้า ส่งให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน โดยสำเนานี้เป็นฉบับประชาชน และหน่วยราชการให้การรับรอง ซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเป็นที่สนใจของประชาชนทั้งประเทศ โดยแม้สำนักเลขาธิการสภาจะยื่นเอกสารดังกล่าวไปแล้ว แต่ตนก็ยังไม่ได้เห็นเอกสารนั้น แต่มีเอกสารการประชุมทั้ง 2 ครั้ง จึงได้นำมาให้ศาลเพื่อไปเทียบเคียงกันดูว่าเนื้อหาฉบับของตนและของที่สภาส่งตรงกันหรือไม่

“ยืนยันเอกสารที่ผมนำมาส่งศาลเป็นความจริงทุกประการ และผมยังได้ส่งสำเนาเอกสารทั้งสองฉบับให้สื่อมวลชน นิสิตนักศึกษาและประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศด้วย เพราะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญของคนทั้งประเทศ” นายวัชระกล่าว

ซัดองครักษ์บิ๊กตู่ชี้นำศาล

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท. กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาวาระครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า ภาคประชาสังคมให้ความสนใจมากว่าสุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นไร จะให้กลับมาทำหน้าที่ต่อหรือไปแล้วไปลับ ซึ่งหนังสือชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญเห็นชัดว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด การที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ข้าพเจ้าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ ตราบใด ที่ข้าพเจ้าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตนในลักษณะที่เป็นเหตุให้เสียหายต่อประโยชน์ของประเทศ ประโยชน์สาธารณะของประชาชน แล้วระยะเวลาการดำรง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าก็ไม่ได้ขัดต่อหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่อย่างใด การเขียนเช่นนี้คือการแสดงตัวตนอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้เคารพหลักการแห่งกฎหมายและไม่ให้ความสำคัญกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

น.ส.ทัศนีย์กล่าวว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์  อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตกรรมการ กรธ., นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งบรรดานักกฎหมาย ที่ได้ดิบได้ดีจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงออกถึงการออกมาอุ้ม พล.อ.ประยุทธ์ ชี้นำสังคม ชี้นำศาลว่าต้องนับหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีผลบังคับใช้ ไม่ให้นับย้อนหลังไปจนถึงปี 2557 เพื่อตอบแทน พล.อ.ประยุทธ์ อุ้มให้มีตำแหน่งทางการเมือง

“อยากถามนายวิษณุและบรรดาองครักษ์พิทักษ์ประยุทธ์ ว่าหากนับเริ่มต้นปี 2560 แล้ว ในปี 2557-2560 ตัวอะไรนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ไม่เข้าใจว่านายวิษณุถึงยอมทิ้งหลักการกฎหมายอุ้มศพพล.อ.ประยุทธ์ต่อไปเพื่ออะไร เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์พยายามทำตัวเหนือกฎหมาย เสพติดอำนาจไม่ยอมลงจากตำแหน่ง ในสายตานายวิษณุ ยังไม่เห็นคนไทยทั้งประเทศว่ากำลังลำบากแค่ไหนหรืออย่างไร การทำลายหลักนิติรัฐ ทิ้งหลักการกฎหมายเพื่อคนคนเดียวมันคุ้มกันหรือไม่” น.ส.ทัศนีย์กล่าว

ด้าน น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ไทยได้โอกาสในการเป็นประธานในการจัดเอเปก เป็นโอกาสที่จะทำให้ทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพของไทยที่มีอยู่ ต้องเกิดประโยชน์กับประเทศไทยและคนไทยมากที่สุด แต่หากทำไม่ได้ก็ขอให้พิจารณาตัวเองว่าเหมาะสมจะเป็นรัฐบาลต่อหรือไม่ ทางที่ดีที่สุด หากเห็นแก่ประเทศชาติและประชาชนจริง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีหรือไม่ ควรลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาแทน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 เพื่อต้อนรับผู้นำนานาชาติที่จะเดินทางมาประชุม ท่ามกลางกระแสกดดันให้ลาออกในขณะที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะคิดจะฝันอยากมีภาพเป็นเกียรติประวัติกับวงศ์ตระกูลอย่างไรก็เป็นสิทธิ แต่ก่อนมองไปข้างหน้า ต้องเหลียวหลังไปมองวิกฤต 8 ปีที่ผ่านมาของพล.อ.ประยุทธ์ด้วยว่า มีภาพลักษณ์ติดลบอย่างไรในสายตาของประเทศต่างๆ

“พล.อ.ประยุทธ์คิดถึงแต่ตัวเองก่อนประเทศชาติและประชาชนหรือไม่ แม้จะได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปก ก็ไม่ได้ช่วยให้ภาพลักษณ์ที่ติดลบตลอด 8 ปีดีขึ้น” นายอนุสรณ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง