“ประธานวิป รบ.” ปัด “บิ๊กป้อม” สั่งคืนชีพบัตรใบเดียว อ้างแค่คุยในหมู่ ส.ส. บอกมาไกลเกินแล้ว “ปชป.- ชทพ.” ยืนกรานไม่เอาท่าเดียว “ก้าวไกล” ชี้ 8 เดือนแก้ รธน.ทัน แต่ทำสังคมเจอทางตัน “วันชัย” ซัด ใครคิดไอเดียเสียคนแน่ “ส.ส.เมืองคอน” พลิ้ว พปชร.ไม่ได้อยากเปลี่ยนกติกาตั้งแต่แรก
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.(ฉบับที่…) พ.ศ..… ที่จะนำกลับเข้ารัฐสภาในวันที่ 2-3 ส.ค.ว่า ขณะนี้กฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยคาอยู่ในสภา ต้องพิจารณาให้จบก่อน จะพยายามดันให้จบภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้ เพราะถ้าทำไม่จบจะเสียหายและเสื่อมเสียมาก ส่วนกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งค่อยเข้าต่อ
ประธานวิปรัฐบาลกล่าวว่า เรื่องกฎหมายลูกเราต้องเดินหน้า เพราะทำหน้าที่นิติบัญญัติ เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติแก้เป็นการใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 แล้ว ต้องทำกฎหมายมาตราที่เกี่ยวข้องให้จบ เพื่อให้กฎหมายสมบูรณ์ พอจบจะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้น ครม.ส่งต่อไปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าขณะนี้พิจารณาเสร็จแล้วเป็นอย่างนี้ กกต.เห็นด้วยอย่างไร และค่อยส่งกลับมาใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ได้มีสัญญาณว่าจะให้โหวตกฎหมายลูกไปในทิศทางใด นายนิโรธปฏิเสธว่าไม่มี พร้อมกับย้ำว่า ในเรื่องกฎหมายลูกที่สภามอบหมายให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ไปพิจารณาปรับแก้นั้น เมื่อ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วให้เอากลับเข้ามาสภา ส่วนสภาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ กมธ.อย่างไร ทาง กมธ.ต้องยอมรับเสียงของสภา และไม่ได้เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่จะมาพูดนู่นพูดนี่ หรือออกคำสั่ง มันไม่มี เป็นเพียงการกล่าวร้ายป้ายสีหัวหน้าพรรค พปชร. เเละด้อยค่า พปชร. เพื่อผลประโยชน์ของพรรคตัวเอง คนพวกนี้ไม่มีจริยธรรมและคุณธรรม ทำให้ประชาชนสับสน บ้านเมืองวุ่นวาย
เมื่อถามถึงกระแสข่าว พปชร.อยากจะย้อนกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียว นายนิโรธยืนยันว่า ไม่มี เป็นเพียงการพูดคุยกัน เมื่อรัฐธรรมนูญแก้เป็นบัตรสองใบ และสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 พวก ส.ส.ก็มาพูดคุยกันว่าแบบ 500 และ 100 รวมทั้งคุยถึงบัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวและสองใบว่าแบบไหนดีกว่ากัน เป็นเพียงการคุยกันในวงว่าใครชอบแบบไหน ไม่ใช่ว่า พปชร.จะทำอะไร เพราะหากจะย้อนกลับไปใช้บัตรใบเดียวมันไกลมาก จะต้องแก้รัฐธรรมนูญใหม่ กระบวนการยุ่งยาก ไม่ใช่มาพูดคุยกันและจะทำได้เลย
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกระแสข่าวแกนนำรัฐบาลต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้บัตรใบเดียวว่า ก่อนอื่นคงต้องพูดถึงความเหมาะสมก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะเราเพิ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญไปไม่นาน ยังไม่ถึงปี แก้จากบัตรใบเดียวมาเป็นบัตรสองใบ ชทพ.สนับสนุนแนวทางบัตรสองใบ เพราะเป็นแนวทางที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ริเริ่มเอาไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นที่มาของบัตรสองใบ และหาร 100 ดังนั้น ชทพ.เองเห็นด้วยกับการเดินตามแนวทางนี้มาตลอด
นายวราวุธระบุว่า หากตอนนี้จะขอแก้กลับไปใช้ใบเดียว คงต้องมาถามเหตุผลกันก่อนว่าด้วยเหตุใด และประเด็นอยู่ที่ว่าเมื่อแก้มาแล้วรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขแล้วนี้ที่ยังไม่ได้ใช้ แล้วจะแก้กลับไปเป็นใบเดียวใหม่อีก จะทำให้การทำงานตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาเท่ากับเป็นศูนย์ ชทพ.ไม่เห็นด้วยกับการที่จะย้อนกลับไปเป็นบัตรใบเดียว ส่วนกรณีจะหาร 500 หรือหาร 100 คงไปถกกันในสภาว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ขัด
คืนชีพใบเดียวเท่ากับศูนย์
“เรื่องความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมของใบเดียวหรือสองใบ ไม่ควรเป็นประเด็นที่จะมาถกกันอีก เมื่อรัฐธรรมนูญแก้ไขมาเป็นสองใบแล้วควรจะดำเนินการไป และขณะนี้กฎหมายลูกกำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ หากกลับไปใช้ใบเดียวใหม่เท่ากับว่าความพยายามในการทำงาน และการประชุมหลายเดือนที่ผ่านมากลับไปเป็นศูนย์ เราเสียเวลาไปหลายเดือน จึงไม่คิดว่าเป็นแนวทางที่ควรจะเกิดขึ้น” นายวราวุธกล่าว
เมื่อถามว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพราะต้องการสกัดพรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่ นายวราวุธตอบว่า ตอนแรกที่บอกว่าใช้สองใบก็ได้ยินว่าจะสกัดเหมือนกัน จึงไม่แน่ใจว่าตกลงบัตรใบเดียวสกัดหรือบัตรสองใบสกัด แต่ประเด็นวันนี้คงไม่ได้อยู่ที่จะสกัดพรรคไหน อย่างไรก็ดี ด้วยเวลาที่เหลืออยู่นี้ ถ้าหากกลับไปเป็นบัตรใบเดียว ไม่แน่ใจว่าการตอบรับจากสังคมจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง
นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พปชร. กล่าวว่า เรื่องนี้หลายพรรคการเมืองได้ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชน ตนมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเพียงความต้องการของพรรคการเมืองบางพรรคเท่านั้น ทั้งนี้ จากแนวทางร่วมของ พปชร. แรกเริ่มเดิมทีไม่ได้สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเคารพและให้ความสำคัญต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม
นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในปี 66 นั้น จะมี ส.ส. 2 ประเภท คือ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เบอร์ผู้สมัคร ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ จะไม่ใช้เบอร์เดียวกัน รวมทั้งวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ สมาชิกรัฐสภาได้คล้อยตามสิ่งที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ได้อภิปรายแสดงเหตุผลต่อที่ประชุมคือ การใช้จำนวน ส.ส.ทั้งหมดในสภา คือ 500 คน นำไปหารคะแนนเสียงทั้งหมดในการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะได้ค่าเฉลี่ยของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ซึ่งเหลือเพียงรายละเอียดที่จะต้องแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการดังกล่าวเท่านั้น คาดว่าจะสามารถครบกำหนดตามที่วางไว้คือวันที่ 15 ส.ค.นี้
นายชัยชนะกล่าวว่า ปรากฏว่ามีความเคลื่อนไหวของแกนนำรัฐบาลและ ส.ส.บางรายที่เห็นว่าหากจะเดินตามสูตรที่กำลังพิจารณาในขณะนี้ อาจจะทำให้ตัวเองหมดโอกาสกลับเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส. ในสมัยหน้า จึงได้มีการเสนอให้กลับไปใช้วิธีการเดิมที่ใช้กันมาในการเลือกตั้งเมื่อปี 62 นั่นคือบัตรใบเดียวที่มัดมือชกเลือกทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ และวิธีคิดคำนวณที่พิสดาร ซึ่งไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน ทำให้เกิดข้อสงสัยเป็นอย่างมาก แต่กลับมีความเคลื่อนไหวที่จะปัดฝุ่นนำวิธีการนี้มาเพื่อสร้างความได้เปรียบกับตัวเอง ท่ามกลางความงุนงงสงสัยของประชาชนที่มองว่าสภาชุดนี้กำลังจะกลายเป็นสภาโจ๊ก เพราะกลับไปกลับมาเอาแน่เอานอนไม่ได้
รองเลขาธิการพรรค ปชป.กล่าวว่า ในเมื่อขณะนี้การแก้ไขพิจารณาใกล้มาถึงขั้นพิจารณาในวาระสามแล้ว จึงควรที่จะให้มีการลงมติพิจารณาให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เพราะยังมีขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องให้รัฐสภาส่งร่างกฎหมายที่เห็นชอบแล้วไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็นต่อไปภายใน 10 วัน นับตั้งแต่รับเรื่อง ซึ่งหากไม่มีการทักท้วงให้รัฐสภาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งยังมีช่องทางการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกด้วย ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาได้ดำเนินการมาทั้งหมดขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น รัฐสภาต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัย และเร่งรีบดำเนินการพิจารณาให้เรียบร้อยก่อนที่จะมีการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาที่จะต้องไม่เกินเดือน พ.ค.66 เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะสร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพียงเพื่อเอาชนะในทางการเมืองเท่านั้น
“ผมเห็นว่ากระบวนการที่รัฐสภาดำเนินการไปนั้น เป็นที่รับรู้ของประชาชนทั่วไปกันหมดแล้ว ดังนั้น แกนนำรัฐบาลและ ส.ส.ที่มีความกลัวว่าจะสอบตกนั้น ไม่ควรที่จะพลิกแพลงหาวิธีการพิสดารพันลึกใดๆ ให้ได้รับชัยชนะหรือเพียงเพื่อให้ตัวเองกลับมาเท่านั้น การเคลื่อนไหวในลักษณะที่ถึงขั้นจะกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ คือการใช้บัตรใบเดียวตอบคำถาม 2 ข้อ เพียงเพื่อสนองความต้องการตัวเองนั้น นอกจากจะเป็นการแกงหม้อใหญ่ให้กับหลายๆ ฝ่ายแล้ว ประชาชนก็มองรัฐสภาชุดนี้เป็นสภาโจ๊กไปด้วย เพราะท่าทีแบบกลับไปกลับมา เอาความแน่นอนและหาสาระอะไรไม่ได้”ส.ส.นครศรีธรรมราชรายนี้ระบุ
8 เดือนแก้รธน.ทัน
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า ขณะนี้การแก้ไขกฎหมายลูกยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการ และคาดว่าจะสามารถแล้วเสร็จก่อนวันที่ 15 ส.ค.อย่างแน่นอน โดยการประชุมรัฐสภาวันที่ 2 ส.ค.นี้ จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.....ที่ค้างการพิจารณาอยู่ เชื่อว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้นในวันเดียวกัน และตามวาระการประชุม จะต่อด้วยร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ..... อย่างไรก็ตาม วิปทั้ง 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาล, ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ได้หารือกันว่าจะเลื่อนกฎหมายลูกมาพิจารณาต่อในวันที่ 3 ส.ค. และคิดว่าจะแล้วเสร็จในวันเดียวกัน แต่หากเกิดอุบัติเหตุจนไม่เสร็จในวันที่ 3 ส.ค. รัฐสภายังมีทางออก โดยการนัดประชุมเพิ่มเติมในวันที่ 9-10 ส.ค. จึงเสร็จทันก่อนวันที่ 15 ส.ค.อย่างแน่นอน
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า ตนไม่สามารถตอบแทนแต่ละพรรคหรือ ส.ว.ได้ว่าการลงมติในวาระ 3 จะเป็นอย่างไร หากคว่ำกฎหมายลูกในวาระ 3 ต้องย้อนกลับไปเริ่มกระบวนการเข้ามาใหม่ อาจจะใช้ร่างของ ครม.เป็นหลัก เราจึงต้องหาทางออกตามกระบวนการรัฐสภา แต่หากผ่านวาระ 3 ก่อนวันที่ 15 ส.ค. จะเป็นไปตามกระบวนการปกติ ที่ต้องส่งร่างให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องพิจารณา และส่งความเห็นกลับมา หากว่ากันตามเจตจำนงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 91 มีความเป็นไปได้ที่องค์กรอิสระอาจจะชี้กลับมาว่า การหารด้วย 500 ไม่ตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และต้องกลับไปใช้การหาร 100 หากเป็นเช่นนั้นจริง รัฐสภาอาจจะต้องพิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับความเห็นขององค์กรอิสระหรือไม่ ดังนั้น การหาร 500 อาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น ในการแก้ปัญหาของรัฐสภา
ส่วนกระแสข่าวจะกลับไปใช้บัตรใบเดียวนั้น นายณัฐวุฒิเห็นว่า จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เป็นการแก้ใน 2 เงื่อนไขคือ การแก้มาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และ ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งคิดคำนวณคะแนนที่สัมพันธ์โดยตรงกับคะแนนที่ได้รับจากบัญชีรายชื่อ ฉะนั้นตามเจตจำนงจึงไม่สามารถกลับไปแก้ไขเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียวได้แน่ แต่ท้ายที่สุดจะมีกระบวนการกลับไปใช้บัตรใบเดียวหรือไม่ คงต้องเป็นเรื่องหลังจากนี้ แต่หากเป็นเช่นนั้น รัฐสภาจะถูกตั้งคำถามว่า ตกลงการแก้กติกาเลือกตั้งกลับไปกลับมา เป็นการแก้เพื่อประชาชน หรือเพื่อกลุ่มการเมือง พรรคการเมือง หรือคนใดคนหนึ่งหรือไม่
เมื่อถามว่า หากกฎหมายลูกไปต่อไม่ได้ และมีบางฝ่ายอยากกลับไปใช้บัตรใบเดียว ต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งใช่หรือไม่ นายณัฐวุฒิยืนยันว่า ใช่ แต่ตนเชื่อว่ายังมีกระบวนการที่ไปต่อได้ และมีทางออก พรรคก้าวไกลสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน หรือจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) แต่เราเคารพเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา เราจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญให้กลับไปใช้กติกาเลือกตั้งเหมือนปี 62 เพราะปัญหาจะวนกลับมาแบบนี้อีก ท้ายที่สุดจะยุ่งกับการแก้ไขกติกาอีกรอบ และหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน โดยการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งฉบับ แบบนี้จึงจะเป็นคำตอบสุดท้ายและเป็นคำตอบที่ดีที่สุด
ส.ส.เอาด้วยใบเดียวถึงสำเร็จ
เมื่อถามถึงระยะเวลาในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้บัตรใบเดียว รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุว่า เรื่องระยะเวลาของกระบวนการทั้งหมดได้ถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วว่าจะทำอย่างไร เนื่องด้วยสภาชุดนี้เหลือเวลา 8 เดือน ซึ่งถือว่าเพียงพอที่จะสามารถทำตามกระบวนการทั้งหมดให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวได้ แต่จะตอบสังคมไม่ได้ และอาจจะเกิดกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จนนำสังคมไปสู่ทางตัน
นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า น่าจะเป็นการโยนหินถามทาง หรือความคิดที่โยนในวงสนทนา แต่ถ้าผลักดันจริง คงสำเร็จยาก ยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา ฟังเสียงนักการเมืองหลายพรรคไม่เห็นด้วย และส่วนตนไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการกลับไปกลับมา เพราะเพิ่งจะแก้มาใช้บัตร 2 ใบ ซึ่งยังไม่ได้ใช้ แต่จะแก้กลับไปใช้บัตรใบเดียวได้อย่างไร ไร้เหตุผล เสียงส่วนใหญ่ในสังคมทราบแล้วว่าการเลือกตั้งบัตรใบเดียวมีปัญหา ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดการต่อรองทางการเมืองอย่างที่เห็น บัตรใบเดียวบีบให้ประชาชนเลือกทั้งคนและพรรค การคำนวณผลการเลือกตั้งยุ่งยาก นอกจากนี้ ทำให้ไม่มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ประชาชนเสียประโยชน์ ทั้งนี้ แนวคิดการกลับไปใช้บัตรใบเดียว แม้คิดได้ แต่ทำยาก เป็นความคิดที่ล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์ประเทศ ละเลยความต้องการของประชาชน ละเลงปัญหาการเมืองเพิ่ม ดังนั้นควรลด ละ เลิก แนวคิดที่จะเอาเปรียบทางการเมืองได้แล้ว ประเทศนี้มีเรื่องที่เป็นสาระต้องทำอีกมาก
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ในส่วนของ ส.ว. ยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ไม่ว่าใครจะให้กลับ ทั้งพรรคการเมืองหรือผู้มีอำนาจคนใดก็ตาม จะเสียผู้เสียคนมากกว่า จะกลายเป็นเรื่องที่จะมองแค่ความได้เสียเปรียบเสียเปรียบทางการเมือง ขาดความถูกต้อง ขาดความมีจริยธรรมทางการเมือง ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ
เมื่อถามว่า มองว่ามีโอกาสที่จะกลับไปใช้ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวได้หรือไม่ นายวันชัยตอบว่า ใครที่คิดแต่เรื่องอำนาจอย่างเดียว คิดแต่จะเอาเปรียบอย่างเดียวแล้วรวมหัวกัน ก็มีสิทธิ์ที่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ หากจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างพรรคการเมืองกับผู้มีอำนาจ ที่หวังจะเอาอำนาจและหวังจะได้เปรียบทางการเมืองเท่านั้น แต่หากพรรคการเมืองไม่เล่นด้วย ส.ส.ไม่เล่นด้วย ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ ลำพัง ส.ว.เพียวๆ ไม่มีทางที่จะทำได้เลย
ซักว่า ส่วนตัวเห็นด้วยหรือไม่หากจะมีการกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว นายวันชัยย้ำว่า ไม่เห็นด้วย แต่เห็นด้วยกับการหารด้วย 100 ตั้งแต่ต้น และหากจะกลับไปกลับมา ตนมองว่ามันเป็นการกะล่อนกันทางการเมือง
นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า กล่าวว่า เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบให้ใช้การคำนวณแบบหาร 500 ไปแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้อง แล้วลงมติวาระ 3 แต่บางฝ่ายที่อยากได้ระบบหาร 100 ส่งสัญญาณใช้แท็กติกทางการเมือง ยื้อเวลาให้การแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พิจารณาไม่ทันกรอบ 180 วัน คือวันที่ 15 ส.ค.นี้
นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Arthit Ourairat ตอนหนึ่งว่า เลือกตั้งบัตรใบเดียว หรือสองใบ การเลือกตั้งซึ่งถือเป็นมาตรการหนึ่งที่ดีที่สุดของระบอบประชาธิปไตย มีหลักการสำคัญว่า ต้อง 1.FREE คือ อิสระ เสรี โดยวิจารณญาณที่บริสุทธิ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่มีการใช้อำนาจหรือกลเม็ดใดๆ บังคับขู่เข็ญ โน้มน้าว ทั้งทางตรงและทางอ้อม 2.FAIR คือ เป็นธรรม ไม่ทุจริต ไม่โกง ตรงไปตรงมา เลือกใครก็ได้คนนั้น 3.REPRESENTATIVE คือ มีความเป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริงและเชื่อถือได้
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวพรรคเล็ก ภายหลังจาก พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เชิญชวนร่วมงานพรรคพลังชาติไทย จัดประชุมใหญ่ พร้อมถือฤกษ์เปลี่ยนชื่อพรรคใหม่ชื่อว่า "พรรครวมแผ่นดิน" ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ โดย พล.อ.วิชญ์ได้ให้นางบุญญาพร นาตะธนภัทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังชาติไทย ทำหน้าที่ประสานเชิญชวน ส.ส.พรรคเล็กทั้งหมด รวมถึง ส.ส.กลุ่ม 16 ด้วยทั้งหมด และมีการโน้มน้าวมาโดยตลอดก่อนที่จะมีการกำหนดเปิดตัวพรรคในวันที่ 1 ส.ค. แต่ล่าสุดกลุ่มพรรคเล็กไม่มีใครแสดงเจตจำนงจะไปอยู่ ขออยู่พรรคเดิม เนื่องจาก ส.ส.พรรคเล็กส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งรอบหน้าต้องการจะย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อลง ส.ส.แบบแบ่งเขต
ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า กลุ่ม 16 มีการพูดคุยกันเบื้องต้นว่าจะย้ายไปอยู่พรรค พปชร. แต่ต้องขอประเมินก่อนว่าสภาจะใช้สูตรหาร 500 หรือหาร 100 หรือใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือสองใบ
ต่อมาเฟซบุ๊ก พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เผยแพร่ข้อความระบุว่า ขอความกรุณาพี่ๆ สื่อกรุณาลงข่าวจริงจากการสัมภาษณ์อาน้อยโดยตรงนะคะ ยังไม่มีการทาบทามใดๆ จากอาน้อยนะคะ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน