‘กทม.’ติดเชื้อลด! สธ.ขุดวัคซีนฝีดาษ แช่แข็ง43ปีรับมือ

ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 4,837 ราย เสียชีวิต 29 คน กทม.พบผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 2 พันแล้ว “บิ๊กตู่” ชี้ 1-2 สัปดาห์โรงพยาบาลจะกลับมาเป็นปกติ แต่อย่าเพิ่งประมาท “อนุทิน” ระบุไทยเตรียมรื้อวัคซีนฝีดาษเก่าเก็บมาปัดฝุ่น “อธิบดีกรมวิทย์” ขุดวัคซีนแช่แข็ง 43 ปีทดสอบประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,837 ราย ติดเชื้อในประเทศ 4,829 ราย มาจากระบบเฝ้า

ระวังและระบบบริการ 4,821 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 8 ราย จากเรือนจำ 4 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 5,198 ราย อยู่ระหว่างรักษา 46,205 ราย อาการหนัก 979 ราย ใส่เครื่องช่วย

หายใจ 493 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 29 ราย เป็นชาย 15 ราย หญิง 14 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 19 ราย มีโรคเรื้อรัง 8 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย ขณะที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,434,511 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,358,396 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 29,910 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 1,986 ราย, ขอนแก่น 173 ราย, บุรีรัมย์139 ราย, นนทบุรี 115 ราย, ชลบุรี 112 ราย, สมุทรสาคร 105 ราย, มหาสารคาม 93 ราย, สมุทรปราการ 87 ราย, นครราชสีมา 81 ราย และชัยภูมิ 78 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง และมีการรักษาตัวที่บ้านเพิ่มมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ เตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบการรักษาปกติ รพ.หลายแห่งเริ่มทยอยยุบวอร์ดโควิด-19 ลง และเริ่มหันกลับมารักษาผู้ป่วยโรคทั่วไปและทำการผ่าตัดมากยิ่งขึ้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ รพ.อื่นๆ ทั่วประเทศจะมีการดูแลผู้ป่วยโรคทั่วไปเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่มีการระบาดที่รุนแรง หรือพบเชื้อกลายพันธุ์

“นายกฯ ยังฝากไปยังผู้ประกอบธุรกิจ กิจการ ต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และประชาชนยังต้องป้องกันตนเองตาม Universal Prevention ของ สธ. สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ถึงแม้ยอดผู้ติดเชื้อจะลดลง เพราะในต่างประเทศยังพบสายพันธุ์ย่อยที่มีความอันตรายอยู่ จึงประมาทหรือไว้วางใจไม่ได้” นายธนกรระบุ

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ว่าหลังเดินทางกลับจากการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 75 มาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ได้รับรายงานการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร และมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองโรค จาก นพ.โรม บัวทอง ผู้อำนวยการกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค ซึ่งผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยยังต้องลงทะเบียนผ่าน Thailand pass หากพบผู้ป่วยที่สงสัยโรคฝีดาษวานร จะส่งมายังสถาบันบำราศนราดูร เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยขณะนี้ผลการตรวจผู้ป่วยสงสัยที่เดินทางมาจากประเทศที่เฝ้าระวังยังไม่พบเชื้อโรคฝีดาษวานร แต่พบเป็นเชื้อเริม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคใดก็ต้องระวังเรื่องการสัมผัสใกล้ชิด ดังนั้น การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ และการเว้นระยะห่าง สามารถช่วยป้องกันได้

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ได้เข้าพบนายเท็ดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก หารือเรื่องการขอสนับสนุนวัคซีนฝีดาษ ซึ่งรับปากว่าหากมีความจำเป็นจะให้การสนับสนุนตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ แต่ไทยได้เตรียมการพึ่งพาตนเองด้วย โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีการเก็บวัคซีนโรคฝีดาษคนแช่แข็งไว้กว่า 40 ปี ได้ส่งไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อตรวจสอบคุณภาพแล้ว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.กล่าวว่า วัคซีนฝีดาษที่สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้นั้น อภ.มีการเก็บแช่แข็งไว้กว่า 40 ปี เมื่อส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นำไปเพาะเชื้อแล้ว เบื้องต้นพบว่าสามารถเพาะเชื้อได้ แปลว่าวัคซีนน่าจะยังมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วัคซีนฝีดาษที่ อภ.เก็บรักษาไว้ 43 ปีในลักษณะผงมีประมาณหมื่นโดส โดยปกติจะเก็บไว้เป็นตัวอย่างหรือการอ้างอิง เราจึงนำมาตรวจดู ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่าวัคซีนยังมีคุณภาพหรือไม่ คือมีความปลอดภัย มีเชื้อปนเปื้อน สารเคมีเปลี่ยนไปหรือไม่ และยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหรือไม่ เพราะข้อมูลการปลูกฝีดาษคนที่หยุดปลูกไปเมื่อปี 2523 ระบุว่าป้องกันได้ 85% เป็นข้อมูลเก่า แต่ฝีดาษตัวปัจจุบันยังไม่มีข้อมูล ถ้าเราเจอคนไข้ในประเทศจะเอาเชื้อฝีดาษลิงปัจจุบันมาเพาะ และเอาผู้ที่เคยรับวัคซีนนำเลือดมาตรวจว่าภูมิคุ้มกันสู้กับเชื้อฝีดาษลิงได้หรือไม่ ส่วนที่มีการตรวจผู้สงสัยยังไม่พบฝีดาษลิง เป็นโรคอื่น

"วัคซีนฝีดาษที่นำมาตรวจ เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่มาทำให้น็อกหมดฤทธิ์ เมื่อนำมาตรวจดูพบว่าเชื้อโตเร็วมากหรือเชื้อยังแอคทีฟอยู่ ทั้งที่ผ่านมา 43 ปี แต่กระบวนการยังอีกยาว โดยวันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูว่า

เราต้องตรวจอะไรอีกบ้าง หากจะใช้จริง ต้องทำอย่างไรบ้าง หากมีเชื้อฝีดาษลิงมาก็จะมาตรวจกับคนที่ภูมิจากวัคซีนหรือตรวจกับวัคซีนว่าเป็นอย่างไร" นพ.ศุภกิจกล่าว

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. ที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศที่ไม่ใช่พื้นที่โรคประจำถิ่นของโรคนี้ โดยข้อมูล ณ วันที่ 26 พ.ค.มีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 344 ราย (เพิ่มขึ้น 35 ราย) โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 120 ราย, อังกฤษ 77 ราย, โปรตุเกส 49 ราย, แคนาดา 26 ราย และเยอรมนี 13 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดโรค อยู่ในกลุ่มอายุ 20-59 ปี

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ณ วันที่ 26 พ.ค. ยังไม่พบผู้ป่วยภายในประเทศ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังและคัดกรองอย่างเข้มงวดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำหรับผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศเสี่ยงที่มีการรายงานพบผู้ป่วย โดยให้เฝ้าระวังสังเกตอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ และรายงานเข้าสู่ระบบ Thailand pass เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เฮ!ลดค่าไฟ-ชงครม.แจกหมื่น

เฮ! ครม.สัญจรนัดแรก เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 “พีระพันธุ์” ประกาศหั่นค่าไฟลงเหลือ 4.15 บาท เป็นของขวัญปีใหม่