เสียงสะท้อนจากคนจนเมืองถึง ‘ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่’

ข้อมูลจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง  กรุงเทพมหานคร  ระบุว่า  จำนวนชุมชนในกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 2,071 ชุมชน  ประชากรรวมกว่า  2 ล้านคน  ในจำนวนนี้เป็นชุมชนแออัดมากที่สุด  คือ  638 ชุมชน  รองลงมาคือชุมชนเมือง  537 ชุมชน  ชุมชนหมู่บ้านจัดสรร  425 ชุมชน  ชุมชนชานเมือง  323 ชุมชน  เคหะชุมชนและอาคารสูง 148 ชุมชน (สถิติข้อมูลชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร พ..2561

กล่าวเฉพาะชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร  ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย  เช่น  คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง-ส่งอาหาร  ขับแท็กซี่  ขับรถเมล์  รับจ้างทั่วไป  ทำงานก่อสร้าง  ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ  ขายอาหาร  ลูกจ้าง กทม. เก็บขยะ  พนักงานทำความสะอาด  รปภ. พนักงาน-ลูกจ้างบริษัทเอกชน  ข้าราชการชั้นผู้น้อย  ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ  ฯลฯ

แม้ว่าส่วนหนึ่งผู้คนในชุมชนเหล่านี้จะเป็นประชากรแฝง  หรือมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดก็ตาม  แต่พวกเขาก็เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองและสร้างเมือง  เพราะหากไม่มีพวกเขา  ใครเล่าจะมาเก็บขยะ  กวาดถนน  ขับรถขนส่งสิ่งของและผู้คน  ทำงานก่อสร้าง  รับจ้าง  ขายอาหาร  และเป็นแรงงานราคาถูก !!

เสียงจากคนคลองเตย

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพิ่งจบลงไปหมาดๆ  ผลปรากฎว่า นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์’  ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่สังกัดพรรคได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น  แต่สิ่งที่ยากลำบากกว่าการหาเสียงในช่วงที่ผ่านมาก็คือ  สัญญาประชาคม’ ที่ผู้สมัครได้กล่าวเอาไว้ก่อนก้าวเท้าเข้าสู่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครนั่นเอง…

และนี่คือเสียงของคนจนผู้สร้างเมืองที่สะท้อนไปถึงผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่…!!

ประไพ   สานุสันต์  ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย  อายุ 49 ปี  ในฐานะชาวคลองเตยที่ทำงานพัฒนาชุมชนคลองเตยมายาวนานเกือบ 30 ปี  บอกว่า  ในเขตคลองเตยมีชุมชนแออัดที่ตั้งอยู่ในที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย  สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์  กรุงเทพมหานคร  และที่ดินเอกชน  รวมแล้วไม่ต่ำกว่า  40 ชุมชน   มีปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัย  เรื่องคุณภาพชีวิต  สาธารณสุข  การศึกษาเด็ก  ฯลฯ  จึงขอฝากประเด็นปัญหาที่สำคัญไปยังผู้ว่า ฯ   กทม.คนใหม่ดังนี้

1.การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  ในเขตคลองเตยมีโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของประชาชน  เช่น  โครงการขยายถนนของ กทม.  บริเวณใกล้กรมศุลกากร,  การก่อสร้างจุดขึ้น-ลงทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยบริเวณชุมชนโรงหมู,  การปรับปรุงพื้นที่สาธารณะของ กทม.บริเวณชุมชนคลองไผ่สิงห์โต (พื้นที่ทับซ้อนกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์) ฯลฯ  จึงอยากจะให้ กทม.เป็นเจ้าภาพในการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่างหน่วยงานเจ้าของที่ดินกับชาวชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ

2.บริการสาธารณสุขพื้นฐาน  ในเขตคลองเตยมีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ประมาณ  100,000 คน  และประชากรแฝงอีกจำนวนมาก  แต่มีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.ที่ประชาชนในย่านคลองเตยไปใช้บริการได้เพียง 2 แห่ง  ซึ่งไม่เพียงพอ  เพราะมีหมอและเจ้าหน้าที่ไม่กี่คน  จึงอยากให้ผู้ว่าฯ กทม.ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก  โดยปรับปรุงอาคารเดิมที่มีอยู่  เพิ่มหมอและเจ้าหน้าที่

3.เรื่องงบอุดหนุนด้านอาหารและการศึกษา  กทม.จัดสรรงบค่าอาหารให้เด็กเล็กระดับอนุบาลวันละ 20 บาท/คน (ปัจจุบันเพิ่มเป็น 25 บาท) เพื่อให้เด็กได้มีอาหารกินในช่วงกลางวัน  ขณะที่พ่อแม่จะได้ออกไปทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว  แต่งบค่าอาหาร  รวมนมกล่องที่ กทม.จัดสรรมาให้เด็กไม่เพียงพอ  ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก  ขณะที่สินค้าต่างๆ  รวมทั้งเสื้อผ้า  ชุดนักเรียน  อุปกรณ์การศึกษาต่างขึ้นราคา  จึงขอให้ กทม.ปรับเพิ่มงบอุดหนุนต่างๆ  เช่น  ค่าอาหารควรเพิ่มเป็นวันละ 40 บาท

นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา  ชุมชนคลองเตยมีคนติดเชื้อจำนวนมาก  โรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับ  บางคนต้องนอนกักตัวอยู่ในรถข้างถนน  เราจึงขอใช้โรงเรียน กทม.ในชุมชนเพื่อจะทำศูนย์รองรับ  ซึ่งตอนนั้นโรงเรียนต้องปิด  แต่ทางสำนักงานเขตฯ บอกว่าทำไม่ได้เพราะเป็นสถานที่ราชการ  เราจึงไปขอใช้สถานที่ของวัดสะพานแทน  แต่กว่าจะได้ก็ยุ่งยากมากเพราะติดขัดกับระเบียบต่างๆ ของสำนักอนามัย กทมจึงขอให้ผู้ว่า ฯ กทม.คนใหม่ปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย”  ประไพบอกถึงข้อเสนอของคนคลองเตย

เสียงจากคนริมคลอง

ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ  ทำให้รัฐบาล คสช.มีนโยบายแก้ไขปัญหาสิ่งรุกล้ำลำคลอง  เพื่อให้การระบายน้ำในคลองมีประสิทธิภาพ  โดยการรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำคลองเพื่อให้ กทม. สร้างเขื่อนระบายน้ำ  ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  รับผิดชอบเรื่องที่อยู่อาศัยตามโครงการ บ้านมั่นคง’ เพื่อให้ชาวบ้านที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำคลองมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง  ถูกกฎหมาย  มีสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี

เริ่มดำเนินงานที่คลองลาดพร้าวในปี 2559  ปัจจุบันสร้างบ้านเสร็จแล้วใน 35 ชุมชน  ประมาณ 3,500 ครัวเรือน  จากทั้งหมด 50 ชุมชน  รวม 7,069 ครัวเรือน  และคลองเปรมประชากรเริ่มดำเนินงานในปี 2562  ปัจจุบันสร้างบ้านใหม่เสร็จแล้วใน 7 ชุมชน  ประมาณ 800 ครัวเรือน  จากทั้งหมด  38 ชุมชน  รวม 6,386 ครัวเรือน

สภาพชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่สร้างเสร็จแล้ว  (ชุมชนหลัง ม.ราชภัฏจันทรเกษม  เขตจตุจักร)

อวยชัย  สุขประเสริฐ  ผู้นำชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ  เขตสายไหม  ซึ่งเป็นชุมชนแรกในคลองลาดพร้าวที่สร้างบ้านใหม่เสร็จในช่วงต้นปี 2560 จำนวน  65 ครัวเรือน  บอกว่า  การสร้างบ้านมั่นคงริมคลองได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’  โดยการรื้อบ้านให้พ้นแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อนฯ เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่  โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อระยะยาวและงบประมาณบางส่วน  กรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินราคาผ่อนปรน    ฯลฯ

แต่ปัจจุบันบางชุมชนยังก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จ  เพราะมีชาวบ้านบางส่วนไม่ยอมเข้าร่วมโครงการ  ไม่ยอมรื้อย้ายบ้านเรือน  ทำให้ก่อสร้างบ้านใหม่ไม่ได้  เขื่อนระบายน้ำก็สร้างไม่ได้ตามแผนงาน  และยังมีปัญหาเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างบ้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ล่าช้า  บางชุมชนที่เข้าร่วมโครงการรื้อบ้านไปแล้ว 3-4 เดือน  แต่ยังสร้างบ้านไม่ได้เพราะติดระเบียบขั้นตอนต่างๆ  จึงอยากจะให้ผู้ว่า กทม.เข้ามาดูแลแก้ไขปัญหา  รวมทั้งส่งเสริมเรื่องอาชีพชาวชุมชน  ช่วยเหลือผู้สูงอายุ  ติดตั้งระบบไฟส่องสว่างตามแนวคลองเพื่อความสะดวกในตอนกลางคืน อวยชัยบอก

จำรัส  กลิ่นอุบล  ผู้นำชุมชนลาดพร้าว 45  เขตห้วยขวาง  บอกว่า  ปัจจุบันตนและแกนนำชุมชนริมคลองลาดพร้าว (ชุมชนลาดพร้าว 45 ,พิบูลร่วมใจ 2 และหลัง ม.ราชภัฏจันทรเกษม) ได้จดทะเบียนเป็น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเรือคลองลาดพร้าว’ เพื่อจะจัดการท่องเที่ยวทางเรือในคลองลาดพร้าว  มีเรือที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน  6 ลำ  รับผู้โดยสารได้ลำละ 8-20 คน  พร้อมที่จะเปิดเดินเรือท่องเที่ยวแบบ One Day  Trip ชิม  ช้อป  ชม  ชิล”  ล่องเรือชมวิถีชีวิตใหม่ชุมชนริมคลองลาดพร้าว 

เรือของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ นำมาให้บริการคณะว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.สำรวจคลองลาดพร้าวเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยมีเส้นทางล่องเรือเริ่มจากท่าเรือใกล้วัดพระราม 9 (เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา) ไปยังชุมชนหลัง ม.ราชภัฎจันทรเกษม  ชิมขนมพื้นบ้าน   ช้อปสินค้าชุมชน  รับประทานอาหารกลางวัน   ทดลองทำเต้าฮวยนมสด  เก็บผักปลอดสารพิษ  ชมชุมชนใหม่ที่สวยงามริมคลอง  ฯลฯ  ล่องเรือไปจนถึงชุมชน กสบ.พัฒนา  เขตสายไหม 

ที่ผ่านมา  มีผู้ใช้บริการเรือท่องเที่ยวเพื่อศึกษาดูงานการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าวและชมวิถีชีวิตชาวบ้านบ้างแล้ว  แต่เราอยากให้ กทม.เข้ามาสนับสนุนเหมือนกับการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษมและการปรับปรุงคลองโอ่งอ่างของ   กทม.ที่ใช้งบประมาณไปเยอะ  เช่น  การสร้างอัตลักษณ์ชุมชนริมคลอง  การพัฒนาสินค้าและอาหารชุมชน  ช่วยโปรโมทการท่องเที่ยว  รวมทั้งส่งเสริมการเดินเรือโดยสารในคลองเพื่อเลี่ยงรถติด  จะทำให้ชาวชุมชนริมคลองได้รับประโยชน์ทั้งเรื่องอาชีพและรายได้  จำรัสบอกถึงข้อเสนอ

เสียงจากคนไร้บ้าน

คนไร้บ้านถือเป็นกลุ่มคนจนเมืองที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมากที่สุด  เพราะคนจนในชุมชนแออัดอย่างน้อยๆ ก็ยังมีบ้านเป็นที่พักพิง  แต่คนไร้บ้านต้องอยู่อาศัยหลับนอนในที่สาธารณะ  เช่น  ริมฟุตบาท  ซอกตึก  ป้ายรถเมล์  สวนหย่อม ฯลฯ  โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ทำให้มีคนตกงาน  ไม่มีค่าเช่าห้องพัก  ต้องกลายมาเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่   ยังชีพด้วยการเก็บขยะรีไซเคิ้ลขาย  หรือรอรับอาหารแจก

ข้อมูลจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า จำนวนคนไร้บ้านในช่วงสถานการณ์โควิด  คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ  จากเดิม 2,719 คน เป็น 3,534 คน  โดยในกรุงเทพฯ คาดว่าจะมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากเดิม 1,033 คน เป็น 1,342 คน  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณรอบสถานีรถไฟหัวลำโพง  ริมถนนราชดำเนิน  ตรอกสาเก  ฯลฯ  เพื่อรอรับอาหาร  น้ำดื่ม  รวมทั้งเงินที่มีผู้ใจบุญนำมาแจก

ขณะที่การประมวลความต้องการของกลุ่มคนไร้บ้าน  พบว่า  ส่วนใหญ่ไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์หรือสถานที่พักพิงของหน่วยงานรัฐ  เพราะมีกฎระเบียบ  กำหนดเวลาเข้า-ออก  แต่คนไร้บ้านชอบชีวิตอิสระ  บางคนไม่มีบัตรประชาชน หรือบัตรหาย ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ทำให้เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือจากรัฐ  เช่น  เงินช่วยเหลือในช่วงโควิด  ไม่ได้รับวัคซีน  ขาดอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ  ฯลฯ

สิ่งที่พวกเขาต้องการ  เช่น  การมีงานทำ  มีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง  มีที่พัก  อาหาร  ได้รับการรักษาพยาบาล  ได้รับวัคซีน  อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ  ฯลฯ 

นายชัชชาติ  พูดคุยกับคนไร้บ้านก่อนการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. (ภาพจาก facebook : chadchartofficial)

นายชัชชาติ  ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่  ได้กล่าวถึงปัญหาคนไร้บ้านก่อนการเลือกตั้งว่า  กทม. ต้องประสานงานกับกระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง  พร้อมกับทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน  เช่น  จัดที่พักชั่วคราว  ที่อาบน้ำ  ตั้งจุดรับบริจาคอาหารและสิ่งของ  พัฒนาอาชีพ  ฯลฯ  และย้ำว่า คนไร้บ้านคือคนไทยที่สมควรได้รับสวัสดิการของรัฐอย่างครบถ้วน  มีคุณภาพเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของคนจนเมืองที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ควรจะต้องรับฟัง...และทำตามสัญญาประชาคมที่เคยกล่าวเอาไว้ !!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)

พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต