วันนี้ - นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรม เสนอ“ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อยูเนสโก ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมรดกภูมิปัญญาฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนของยูเนสโกแล้ว 2 รายการ คือ โขนและนวดไทยเมื่อปี พ.ศ. 2561 และ พ.ศ.2562 โดยมีรายการ “โนรา” และ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ที่เสนอไปแล้วและอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของยูเนสโก โดยในปี 2564 นี้ ประเทศไทยจะได้เสนอรายการ ต้มยำกุ้ง เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก เป็นลำดับต่อไป
นายอิทธิพล เปิดเผยต่อว่า วธ.โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เห็นความสำคัญของ ต้มยำกุ้งอาหารประจำชาติที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ด้วยเป็นอาหารที่มีคุณค่าสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำลำคลองในภาคกลางของไทย ที่มีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารอย่างเรียบง่าย พึ่งพิงธรรมชาติและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีการสืบทอดการทำต้มยำกุ้งในครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง มีผู้ประกอบวิชาชีพด้านอาหาร ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ บุคคล หน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าขององค์ความรู้ ซึ่งภูมิปัญญาการทำต้มยำกุ้งนอกจากจะมีการสืบทอดอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สูตรต้มยำกุ้งที่แปลกใหม่มากมาย ที่ตอบสนองต่อสภาพทางภูมิศาสตร์ วิถีชีวิตและรสนิยมทางอาหารที่แตกต่างกันไปของคนกลุ่มต่างๆ
" การเสนอต้มยำกุ้งเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมฯ ของมนุษยชาติกับยูเนสโก นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยแล้วยังกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่าในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของตน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ในความหลากหลายของอาหารไทย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่ออาหารของไทยในระดับนานาชาติ ทั้งยังสร้างโอกาสทางการตลาดให้ธุรกิจอาหารไทย เกิดการสร้างงานและรายได้ให้แก่ผู้ผลิตวัตถุดิบ อันได้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการร้านอาหารไทย ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย " นายอิทธิพล กล่าว
รมว.วธ. กล่าวต่อว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการหากต้มยำกุ้งได้รับการขึ้นทะเบียน คือ การจัดทำรายงานสถานะปัจจุบันของมรดกวัฒนธรรมฯ ที่แสดงถึงผลสำเร็จ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการสงวนรักษา และดำเนินการตามมาตรการการสงวนรักษาต้มยำกุ้งอย่างเคร่งครัด เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนและความมั่นคงด้านอาหาร และส่งเสริมการศึกษาวิจัยการพัฒนานวัตกรรมอันเกี่ยวกับภูมิปัญญาด้านอาหาร ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับการถนอมอาหาร คุณภาพของวัตถุดิบ และการรักษาความสดใหม่และคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงการส่งเสริมการตลาดเพื่อเพิ่มความต้องการการบริโภคอาหารไทยให้ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง อันจะส่งผลดีอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ