ธุรกิจศัลยกรรมไทยบูมแต่แข่งดุ

หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแพทย์ที่ล้ำสมัย ซึ่งไม่เพียงแค่การดูแลจากภายนอกให้ดูดีด้วยการศัลยกรรมทั้งผ่าตัดและไม่ผ่าตัดเท่านั้น แต่ยังดูแลสุขภาพจากภายใน ป้องกันก่อนที่จะป่วย ส่งผลให้ทั้งอุตสาหกรรมด้าน สุขภาพและความงามเติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่ง Global Wellness Institute: GWI ประเมินว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกมีแนวโน้มเติบโตจาก 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 เป็น 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 20.9% ต่อปีในช่วงปี 2563-2568 สำหรับตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย ปี 2563 จัดอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก โดยมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี

ขณะที่ มูลค่าตลาดเสริมความงามทั่วโลกคาดว่าในปี 2570 จะขึ้นไปแตะระดับ 2.16 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.14 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 13.9% (CAGR ปี 2563-2570) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.5 เท่า ขณะที่ในไทยจะแตะระดับ 7.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.48 แสนล้านบาท โตเฉลี่ยปีละ 16.6% (CAGR ปี 2563-2570) เพิ่มจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า

เช่นเดียวกับ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ หรือ ISAPS มองว่า ผู้ที่เสริมความงามโดยศัลยแพทย์ในปี 2564 เพิ่มขึ้นถึง 19.3% โดยเป็นการทำศัลยกรรมแบบผ่าตัดรวมกว่า 12.8 ล้านครั้ง และศัลยกรรมแบบไม่ผ่าตัด 17.5 ล้านครั้งทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยเองอุตสาหกรรมศัลยกรรมและความงามปี 2565 ก็มีมูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายแพทย์ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่งและผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงาม โรงพยาบาลบางมด ยังได้ระบุว่า ปัจจุบันต่างชาตินิยมเดินทางมาประเทศไทยเพื่อใช้บริการด้านการแพทย์ และหนึ่งในนั้นคือการศัลยกรรม โดยข้อมูลของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ยกให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านความงามอันดับที่ 3 ของเอเชีย สามารถสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการด้านความงามและศัลยกรรม เนื่องจากมีเทคนิคที่ดีและความเชี่ยวชาญของแพทย์ จึงทำให้อุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามเป็นอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ที่จะสร้างเม็ดเงินให้แก่ประเทศไทย

ในขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคจะเปิดกว้างมากขึ้นต่อการทำศัลยกรรมและเสริมความงาม แต่ด้วยปัจจัยเฉพาะหน้าด้านภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่ยังเปราะบาง และค่าครองชีพที่สูงจะส่งผลต่อการทำรายได้ของผู้ประกอบการ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้เล่นในธุรกิจที่มีจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 4,000 ราย โดยเฉพาะการแข่งขันกับผู้เล่นในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ที่รุกเข้ามาทำการตลาดในไทยมากขึ้น รวมถึงมีการดึงลูกค้าให้ไปใช้บริการในประเทศตนเองผ่านตัวแทนหรือเอเยนซีต่างๆ อีกทั้งประเทศคู่แข่งในอาเซียนที่หันมาเจาะตลาดศัลยกรรมและความงามมากขึ้น เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามของไทยปี 2566 น่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 71,000-72,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 2.3-3.6% (YoY) ทยอยกลับมาฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย แต่มูลค่าดังกล่าวยังไม่กลับไปเท่าก่อนโควิด และตัวเลขการเติบโตในภาพรวมอาจไม่ได้สะท้อนผลประกอบการที่ดีขึ้นของผู้ประกอบการทุกราย ขึ้นอยู่กับการตอบโจทย์ลูกค้า ทั้งในเรื่องของค่าบริการ รสนิยม คุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการ รวมถึงผลลัพธ์หรือความพึงพอใจในผลงานของแพทย์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคมีต่อการเลือกใช้บริการธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามที่แตกต่างกันออกไป

และมองไปข้างหน้ายังพบว่า ธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามยังคงเผชิญกับอีกหลายปัจจัยท้าทาย เช่น การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะศัลยแพทย์ตกแต่ง ที่อาจทำให้เกิดการแย่งชิงบุคลากรทางการแพทย์กันมากขึ้น และส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจที่สูงขึ้น

อีกทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว อาจส่งผลต่อต้นทุน ซึ่งหากลูกค้ามาใช้บริการน้อยและไม่สม่ำเสมอ ความคุ้มค่าด้านการลงทุนก็จะน้อยและอาจขาดทุนในที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า การอยู่รอดหรือประสบความสำเร็จของธุรกิจในยุคที่ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย และมีทางเลือกมากขึ้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย.

 

บุญช่วย ค้ายาดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความสำเร็จของแบรนด์กับการใช้Meta

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีประชากร 700 ล้านคน และมี GDP รวมประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เป็นตลาดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก

หวยเกษียณแก้ปัญหาแก่ก่อนรวย

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ หรือหวยเกษียณ ของกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งนี่ถือเป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมการออมของประชาชนในประเทศ

เจ็บแล้วจบ

หลังการบริหารงานของรัฐบาลเศรษฐาได้เข้ามาเดินหน้ามาตรการประชานิยมลด แลก แจก แถม จัดเต็ม ตามที่สัญญากันไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายด้านพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า

3แผนกรีนดันอุตฯไทยรักษ์โลก

เทรนด์รักษ์โลกยังมีมาอย่างต่อเนื่อง และตลอดปี 2567 ที่ผ่านมานี้หลายหน่วยงาน หลายบริษัทก็ยังไม่ทิ้งอุดมการณ์อันแรงกล้านี้ และยังแห่ประกาศแผนดำเนินงานเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมกันอย่างคึกคัก

เร่ง“ปรับ”ก่อน(ถูก)“เปลี่ยน”

ยอดขายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา หลายคนคงตกใจ เพราะหดตัวลงถึง 23.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มว่าทั้งปีจะหดตัวลงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี

เปิดไม้เด็ดธุรกิจขนาดเล็กสู้ในตลาด

หากย้อนเวลาไปเมื่อหลายปีก่อน ธุรกิจที่มีทุนหนาและมีส่วนแบ่งการตลาดมาก มักจะถูกมองว่าเป็น “ปลาใหญ่” ที่ได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ทุนน้อยกว่าซึ่งเปรียบเหมือน “ปลาเล็ก” จนเป็นที่มาของคำว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หนึ่งในข้อได้เปรียบที่เห็นชัดที่สุดคือ การมี Economy of Scale หรือ การประหยัดต่อขนาด ซึ่งหมายถึง การผลิตสินค้าหรือบริการในจำนวนที่มากพอที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง พูดง่ายๆ ก็คือ “ยิ่งผลิตมากขึ้น ต้นทุนการผลิตยิ่งลดลง และยิ่งคุ้มค่ามากขึ้น” โดยต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือบริการจะแบ่งออกเป็น ต้นทุนคงที่ (fixed cost) และต้นทุนผันแปร (variable cost) ต้นทุนคงที่ คือ ต้นทุนที่ธุรกิจต้องจ่ายเป็นจำนวนคงที่ ไม่ว่าจะผลิตสินค้าหรือบริการในปริมาณเท่าใดก็ตาม เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ส่วนต้นทุนผันแปร